Roku จากอดีตพนักงาน Netflix ต่อยอดไปทำธุรกิจใหม่ มูลค่าล้านล้าน /โดย ลงทุนแมน
ทุกวันนี้ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง เป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันมาดูวิดีโอออนไลน์แบบ On Demand กันมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Disney+, Amazon Prime, YouTube หรือผู้ให้บริการรายอื่น
แต่รู้ไหมว่า มีบริษัทชื่อว่า “Roku”
ที่ก็ได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้ จนกลายเป็นบริษัทมูลค่าล้านล้าน
ด้วยการ “รวบรวม” บริการวิดีโอสตรีมมิงยอดฮิตต่าง ๆ มาไว้บนแพลตฟอร์มของตัวเอง
เรื่องราวของ Roku น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Roku เป็นบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์ และให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 โดยคุณ Anthony Wood
ที่ชื่อว่า Roku ก็เพราะว่า คำว่า Roku นั้นมาจากภาษาญี่ปุ่น ที่แปลว่า “เลขหก”
เพราะ Roku เป็นบริษัทแห่งที่หก ที่คุณ Wood ก่อตั้งขึ้นมานั่นเอง
โดยก่อนหน้าที่จะมาก่อตั้ง Roku เขาเคยทำธุรกิจเครื่องบันทึกวิดีโอแบบดิจิทัล ชื่อว่า ReplayTV
เนื่องจากมีประสบการณ์พลาดชมซีรีส์โปรดเรื่อง Star Trek อยู่หลายตอน
แต่ทว่าบริษัทไม่สามารถสู้กับผู้เล่นรายใหญ่ ที่ตั้งราคาขายถูกกว่าได้ จึงต้องขายกิจการทิ้งไป
อย่างไรก็ตาม คุณ Wood ยังคงเชื่อว่าในอนาคต เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะทำให้ผู้บริโภคเลือกรับชมรายการที่สนใจ ในเวลาไหนก็ได้
ซึ่งต่อมาเขามีโอกาสพูดคุยกับ คุณ Reed Hastings ผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix ที่กำลังวางแผนเปิดให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงอยู่พอดี
คุณ Wood จึงได้เข้าไปเป็นผู้บริหารของ Netflix
โดยรับผิดชอบงานพัฒนากล่องอุปกรณ์เชื่อมต่อกับทีวีและอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ดู Netflix
แต่สุดท้าย Netflix ตัดสินใจมุ่งเน้นด้านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก
ทำให้คุณ Wood นำโปรเจกต์ธุรกิจฮาร์ดแวร์สำหรับดูวิดีโอออนไลน์ ออกมาพัฒนาต่อเป็นบริษัท Roku แทน โดยมี Netflix ร่วมลงทุนด้วย
หลังจากนั้น Roku ก็ได้เริ่มวางขาย กล่องอุปกรณ์ดูวิดีโอสตรีมมิง ในปี 2008
โดยช่วงแรก กล่อง Roku ดูได้เพียงแค่ Netflix
แต่ผ่านมาถึงปัจจุบัน บริษัทได้มีการเพิ่มบริการวิดีโอสตรีมมิงรายอื่น ๆ เข้ามาอีกมากมาย
ซึ่งมีทั้งแบบที่ดูฟรี และต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนตามแต่ละแพลตฟอร์ม
ยกตัวอย่างเช่น Disney+, Amazon Prime, YouTube, HBO Max, Hulu, Apple TV
นอกจากนั้น Roku ยังมีการสร้างบริการวิดีโอสตรีมมิงของตัวเอง ชื่อว่า Roku Channel
โดยซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จากค่ายดัง เช่น Lionsgate, MGM, Paramount, Sony Pictures, Warner Bros. Pictures
รวมทั้งเมื่อเดือนเมษายน 2021 ได้ทุ่มเงิน 3,100 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จาก Quibi แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่เพิ่งปิดตัวลงไป เพื่อนำคอนเทนต์มาพัฒนาต่อยอด
แต่ถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่า
ในวันข้างหน้า ถ้าหากผู้บริโภคหันมาใช้ “สมาร์ตทีวี” กันมากขึ้น
ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และมีบริการวิดีโอสตรีมมิงอยู่ในตัวเครื่อง
แล้วอย่างนี้ กล่อง Roku จะยังขายได้หรือ ?
ความเสี่ยงดังกล่าว คงจะหลีกเลี่ยงได้ยาก
แต่ประเด็นสำคัญ คือ Roku ก็มีการปรับตัวรับมือกับเรื่องนี้
Roku ได้ขยายธุรกิจไปสู่การผลิต Roku TV ซึ่งเป็นสมาร์ตทีวีที่ใช้งานแพลตฟอร์ม Roku ได้ทันที ไม่ต้องซื้อกล่องอุปกรณ์เพิ่ม
รวมทั้งขายลิขสิทธิ์ระบบปฏิบัติการที่แพลตฟอร์ม Roku ใช้ ซึ่งเรียกว่า Roku OS
ให้กับผู้ผลิตสมาร์ตทีวีรายอื่น เช่น Hisense, Sharp, Hitachi
ทำให้แพลตฟอร์ม Roku ถูกใช้งานต่อไป แม้คนไม่ได้ซื้อสินค้าของบริษัท
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน Roku OS มีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ตทีวีของสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ราว 38%
แล้วผลการดำเนินงานของ Roku เป็นอย่างไร ?
จากกระแสความนิยมในวิดีโอสตรีมมิง ประกอบกับคอนเทนต์ที่หลากหลาย
ส่งผลให้ Roku มีฐานผู้ใช้งานล่าสุดถึง 53 ล้านราย ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนไปที่การเติบโตของรายได้
ปี 2018 รายได้ 23,200 ล้านบาท ขาดทุน 280 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 35,300 ล้านบาท ขาดทุน 1,900 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 55,700 ล้านบาท ขาดทุน 550 ล้านบาท
โดยรายได้ของบริษัท มาจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ
- ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อเข้าถึงแพลตฟอร์ม 27%
- ธุรกิจแพลตฟอร์ม 73%
สำหรับธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ Roku ตั้งราคาสินค้าเอาไว้ค่อนข้างถูก
โดยกล่อง Roku มีราคาอยู่ที่ 1,000-4,000 บาท ตามระดับคุณภาพ
ขณะที่ผู้เล่นรายอื่น เช่น กล่อง Apple TV มีราคาเริ่มต้น 5,600 บาท
สาเหตุเนื่องจาก บริษัทต้องการขยายฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด
แล้วค่อยไปหาวิธีทำกำไรจากธุรกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit) สูงถึง 67%
โดยรายได้ธุรกิจแพลตฟอร์ม จะมาจาก ค่าโฆษณา, ค่าสมาชิกบัญชีพรีเมียม รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ Roku OS
ซึ่งโมเดลธุรกิจลักษณะนี้ คล้ายกับ Xiaomi บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ที่เน้นขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในราคาถูก เพื่อให้คนเข้าถึงสินค้าของตัวเองได้ง่าย แล้วค่อยไปทำเงินกับบริการออนไลน์ในอุปกรณ์เครื่องนั้นแทน
ทั้งนี้ Roku จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ เมื่อปี 2017
ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท
ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่า 35 เท่า เทียบกับมูลค่าตอน IPO
โดยมีนักลงทุนสถาบันชื่อดังหลายรายเข้ามาถือหุ้น
เช่น Vanguard Group, BlackRock และ ARK Invest
เราคงได้เห็นแล้วว่า
การเป็นแพลตฟอร์ม “ตัวกลาง” รวบรวมคอนเทนต์ มาไว้ในที่เดียว
ก็สามารถเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมโดยรวมได้ เหมือนกับ Roku
แต่อย่างไรก็ตาม Roku ไม่ได้หลงไปกับความสำเร็จในอดีต และปรับตัวอยู่ตลอด
ไม่ว่าจะเป็น การมีส่วนร่วมในธุรกิจต้นน้ำ อย่างการผลิตวิดีโอคอนเทนต์
และในธุรกิจปลายน้ำ อย่างการผลิตและขายระบบปฏิบัติการสมาร์ตทีวี
เพราะพวกเขารู้ตัวดีว่า ในวันหนึ่ง เทคโนโลยีอาจเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ
จนทำให้คนตรงกลาง ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://productmint.com/roku-business-model-how-does-roku-make-money/
-https://www.investopedia.com/how-roku-makes-money-5119488
-https://en.wikipedia.org/wiki/Roku,_Inc
-https://www.roku.com/en-gb/products/players
-https://www.roku.com/en-gb/whats-on
-https://ir.roku.com/static-files/8233f1fa-0263-4bb5-adb4-f0545a06a246
-https://finance.yahoo.com/quote/ROKU/financials?p=ROKU
Search