หลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซี
*******************
หลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซี(4/6)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์บทความ 6 ตอน ที่เราจะมาทำความรู้จักกันกับทฤษฎีที่เกี่ยวกับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี 2020 ที่มอบให้แก่ Roger Penrose, Reinhard Genzel และ Andrea Ghez หรือเรื่องที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้ โดยจะมีอยู่ด้วยกันหกตอน ได้แก่
1. ซิงกูลาริตี้ หรือสภาวะเอกฐาน[3]
2. ขอบฟ้าเหตุการณ์ และ cosmic censorship hypothesis[4]
3. ปริภูมิเวลาของดาวฤกษ์ที่ยุบตัวลงเป็นหลุมดำ[5]
4. หลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก
5. สามเหลี่ยมเพนโรส
6. กระเบื้องเพนโรส
*******************
หลุมดำ เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ยากที่สุดสิ่งหนึ่งในเอกภพ นอกไปจากว่าตัวหลุมดำเองนั้นจะไม่ส่องแสงอะไรออกมาแล้ว การจะสังเกตเห็นแสงของวัตถุที่กำลังตกลงไปในขอบฟ้าเหตุการณ์นั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากหลุมดำนั้นมีขนาดเล็กมาก โดยหลุมดำที่มีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์จะมีขนาดเพียงแค่ 3 กิโลเมตรเพียงเท่านั้น ทำให้หลุมดำนั้นเป็นวัตถุที่เล็กและจางเกินกว่าจะสังเกตเห็นได้ด้วยวิธีปรกติ
แต่หลุมดำหนึ่ง ที่มีการคาดการณ์กันว่าจะพบได้ ก็คือหลุมดำมวลยิ่งยวด (supermassive black hole) ที่ ณ ตำแหน่งใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา เรามีการคาดการณ์มานานว่า ณ ใจกลางของกาแล็กซีของเรานั้นน่าจะมีหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่ อย่างไรก็ตาม การสังเกตการณ์โดยตรงนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะนอกไปจากจะต้องสังเกตผ่านฝุ่นอันหนาทึบที่ปกคลุมอยู่ตลอดจานของกาแล็กซีทางช้างเผือกแล้วนั้น ตัวหลุมดำเองก็ยังมีขนาดที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับระยะทางอันห่างไกลของมัน โดยหากเปรียบเทียบกันแล้ว กล้องโทรทรรศน์ใดก็ตามที่จะสามารถสังเกตเห็นหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางกาแล็กซีได้ จะต้องสามารถมองเห็นรายละเอียดที่เล็กกว่าเหรียญสลึงที่วางอยู่บนพื้นผิวของดวงจันทร์ หรือเห็นอนุภาคของไวรัสที่อยู่ห่างออกไปหนึ่งกม. การจะมองเห็นหลุมดำโดยตรงจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก และทีม EHT ก็สามารถทำได้โดยการใช้เทคนิค interferometry ที่ทำให้ได้กล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใช้งานใกล้เคียงกับขนาดของโลกของเรา[6]
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะสามารถอนุมานการมีอยู่ของหลุมดำได้ผ่านทางหลักฐานทางอ้อม ในปี 1931 Karl Jansky ได้พบสัญญาณวิทยุมาจากทิศทางของใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก แหล่งที่มาของสัญญาณวิทยุนี้จึงได้ชื่อในภายหลังว่า Sagittarius A* (Sag A*) ตามที่ตั้งของกลุ่มดาวแมงป่องที่เป็นที่ตั้งของใจกลางทางช้างเผือก มีการคาดการณ์กันว่า สัญญาณวิทยุอันแรงกล้านี้ น่าจะเกิดขึ้นจากอนุภาคมีประจุที่กำลังตกลงสู่ขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ แต่เราก็ยังคงไม่มีหลักฐานอื่นที่จะยืนยันว่าวัตถุนี้เป็นหลุมดำอยู่ดี
หลักฐานที่ใกล้เคียงหลักฐานโดยตรงที่สุด ที่ยืนยันว่า Sagittarius A* เป็นหลุมดำมวลยิ่งยวด เกิดขึ้นจากการศึกษาวงโคจรของดาวฤกษ์ที่โคจรอยู่รอบๆ Sag A* โดยที่ทีมของ Reinhard Genzel จาก Max Planck Institute for Extraterrestrial Physics และ Andrea M. Ghez จาก UCLA ต่างก็ได้นำเสนอผลการติดตามตำแหน่งของดาวฤกษ์ S2 (หรือ S0-2) ที่โคจรอยู่รอบ Sag A* และพบว่าดาวฤกษ์ดวงนี้มีอัตราเร็วโคจรไปรอบๆ Sag A* สูงถึง 2.55% ของความเร็วแสง และล้อมรอบวัตถุที่มีมวลสูงถึง 4 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ ซึ่งถูกจำกัดเอาไว้ในบริเวณที่เล็กกว่า 120 หน่วยดาราศาสตร์ (ระยะวงโคจรของโลก) ซึ่งบ่งชี้ว่า Sag A* ประกอบขึ้นด้วยวัตถุที่มีมวลหนาแน่นอยู่ในบริเวณปริมาตรเล็กๆ ณ กึ่งกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา
ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถสังเกตหลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซีได้โดยตรง แต่นี่ก็นับเป็นการค้นพบวัตถุที่มีความหนาแน่นมากที่สุด และเป็นหลักฐานที่ดีที่สุด ที่จะยืนยันว่า Sag A* นั้นเป็นหลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซีของเรา ซึ่งเท่ากับว่า ณ ตำแหน่งที่ใกล้หลุมดำที่สุด ดาวฤกษ์ S2 นั้นอยู่ห่างจากขอบฟ้าเหตุการณ์ไปเพียงแค่ 1400 เท่าของขนาดหลุมดำ (วัดโดย Scwarzschild radius) เพียงเท่านั้นเอง
และด้วยการค้นพบวัตถุที่มีมวลหนาแน่น ที่ยืนยันถึงความเป็นไปได้ที่หลุมดำจะมีอยู่จริงในธรรมชาตินี่เอง ที่ทำให้ Reinhard Genzel และ Andrea M. Ghez ได้ครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้ไปครอง[2]
ภาพ: ดาวฤกษ์ที่โคจรรอบๆ หลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซีของเรา โดย ESO/MPE/Marc Schartmann
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม:
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Sagittarius_A*
[2] https://www.nobelprize.org/prizes/physics/2020/popular-information/
[3] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/1430982597111942/
[4] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/1435086120034923/
[5] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/1439192259624309/
[6] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/977309255812614/
eso wiki 在 มติพล ตั้งมติธรรม Facebook 的最佳貼文
ESO เผยภาพพื้นผิวที่หรี่ลงของดาวบีเทลจุส
จากที่เคยโพสต์เอาไว้แล้ว เรื่องของดาวบีเทลจุสในกลุ่มดาวนายพรานที่อยู่ดีๆ ก็หรี่ลงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย จนไม่ติดอันดับดาวสว่าง 20 อันดับต้นอีกต่อไป[3] จนถึงทุกวันนี้ดาวบีเทลจุสก็ยังคงหรี่ลงอย่างต่อเนื่อง จน ณ เวลาที่เขียนนี้ดาวบีเทลจุสเหลือความสว่างเพียง 36% ของความสว่างปรกติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
ทีมนักดาราศาสตร์จาก European Southern Observatory (ESO) จึงได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดกล้องหนึ่งบนพื้นโลก
เนื่องจากว่าดาวบีเทลจุสเป็นดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดดวงหนึ่งบนท้องฟ้า โดยมีขนาดพื้นผิวกลืนไปถึงวงโคจรของดาวพฤหัสหากนำมาวางไว้ที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ และด้วยระยะห่างที่ไม่ไกลออกไปมาก จึงทำให้ดาวบีเทลจุสเป็นเพียงดาวฤกษ์หนึ่งในไม่กี่ดวงที่เราสามารถสังเกตเห็นรายละเอียดของพื้นผิวได้[2]
แม้กระนั้นก็ตาม การสังเกตพื้นผิวของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างออกไปถึงกว่า 700 ปีแสงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย และต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดยักษ์เช่น VLT ผ่านทางอุปกรณ์ SPHERE เนื่องจากทีมนักดารศาสตร์นี้ได้เคยบันทึกภาพของพื้นผิวดาวบีเทลจุสเอาไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 ภาพที่ถ่ายเดือนธันวาคม 2019 นี้จึงเปรียบได้เสมือนกับภาพเปรียบเทียบ "ก่อน" และ "หลัง" การหรี่ลงของดาวบีเทลจุส (ภาพบน)
จากภาพ จะเห็นได้ว่าพื้นผิวของดาวบีเทลจุสนั้นไม่ได้ราบเรียบเช่นดวงอาทิตย์ แต่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนและส่วนของพื้นผิวที่อุณหภูมิแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์แล้ว ขนาดที่ใหญ่กว่าของดาวบีเทลจุสบ่งชี้ว่ามันจะต้องมีความหนาแน่นที่ต่ำกว่าเป็นอย่างมาก (แม้ว่าจะมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ก็ตาม) การไหลเวียนของก๊าซร้อนที่เกาะกันอย่างหลวมๆ ภายในดาวบีเทลจุสนี้เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ดาวมีพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอและเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ดาวมีการแปรแสงไป
หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่านี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าดาวบีเทลจุสกำลังจะระเบิดหรือไม่ ดาวยักษ์แดงทุกดวงจะต้องระเบิดขึ้นในวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ และดาวบีเทลจุสเองก็น่าจะเหลืออายุขัยอีกเพียงไม่ถึงหนึ่งแสนปี อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เชื่อว่าโอกาสที่ดาวบีเทลจุสจะระเบิดขึ้นในชั่วอายุคนนี้อาจจะมีค่อนข้างน้อย วิธีเดียวที่เราจะทราบได้ก็คือต้องคอยติดตามกันต่อไป
แล้วเพราะเหตุใดดาวบีเทลจุสจึงหรี่แสงลงอย่างเห็นได้ชัด? นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแบบจำลองที่เป็นไปได้สองอันก็คือ การเย็นลงอย่างรวดเร็วของพื้นผิวที่เกิดขึ้นจากกลไกภายในดาวฤกษ์ หรือไม่ก็คือการปล่อยฝุ่นหนาทึบมาบดบังในแนวสังเกต อย่างไรก็ตาม เรายังมีอะไรที่ต้องศึกษากันอีกมากเกี่ยวกับดาวยักษ์แดง และเราอาจจะค้นพบอะไรแปลกๆ ขึ้นมาอีกในวันหลังก็ได้
อีกภาพหนึ่งที่บันทึกเอาไว้โดยเครื่องมือ VISIR โดยกล้องโทรทรรศน์ VLT (ภาพล่าง) เปิดเผยให้เห็นถึงรังสีอินฟราเรดที่ถูกปล่อยออกมาโดยฝุ่นที่ล้อมรอบๆ ดาวบีเทลจุส (จุดเล็กๆ ตรงกลางในภาพล่าง) โครงสร้างฝุ่นที่ล้อมรอบนี้เปิดเผยให้เห็นถึงมวลสารที่ถูกสลัดออกมาจากพื้นผิวของดาวยักษ์แดง
มีคำกล่าวกันว่า "เรามาจากธุลีของดาว" (We are all made of star stuff) เนื่องจากธาตุในทุกโมเลกุลของร่างกายเรานั้นต้องถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการภายในดาวฤกษ์ทั้งนั้น แต่ว่าธาตุภายในดาวฤกษ์นั้นมาประกอบขึ้นเป็นตัวเราได้อย่างไร "ธุลี" ที่มาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นภายในดาวฤกษ์นั้นมาจากไหน? ดาวยักษ์เช่นดาวบีเทลจุสนั้นจะมีการปลดปล่อยมวลสารออกมาเป็นจำนวนมากแม้กระทั่งก่อนที่พวกมันจะระเบิดออกเป็นซูเปอร์โนวา การศึกษาการสูญเสียมวลของดาวยักษ์จะช่วยให้เราตอบคำถามนี้ได้
ภาพ: ESO/M. Montargès et al., ESO/P. Kervella/M. Montargès et al., Eric Pantin
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม:
[1] https://www.eso.org/public/news/eso2003/
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_stars_with_resolved_images
[3]https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/1177837022426502
eso wiki 在 Elder Scrolls Online Wiki (esowiki) - Profile | Pinterest 的推薦與評價
Elder Scrolls Online Wiki | Wiki for Elder Scrolls Online(ESO) ... <看更多>