“ทูตวีรชัย” แจงที่ประชุมรัฐสภา คำพิพากษาศาลโลกตีความคดีปราสาทพระวิหาร ยอมรับดินแดนทั้งหมดของยอดเขาพระวิหาร ตามนิยามในย่อหน้า 98 เป็นของกัมพูชา เท่ากับไทยเสียดินแดนเลยเส้นมติ ครม.ปี 2505 ที่ให้ล้อมรั้วรอบปราสาท เลยไปถึงทางขึ้นเขาพระวิหารจากฝั่งกัมพูชา แต่ไม่รวมถึงภูมะเขือ
วันนี้ (13 พ.ย.) นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทยในคดีการตีความคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหารปี 2505 ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถึงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ที่มีการอ่านเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา
“กราบเรียนท่านประธาน กระผมนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยในการสู้คดีตีความปราสาทพระวิหาร ขออนุญาตเรียนรายงานสรุปสาระของคำพิพากษาวันที่ 11 พฤศจิกายน ของศาลโลกในคดีนี้ จะรายงานเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะสั้น ส่วนสองจะยาวหน่อย ส่วนแรกจะเป็นเรื่องข้อบทปฏิบัติการ คือส่วนของคำพิพากษาที่ผูกพันคู่กรณี มี 2 ข้อ
ข้อ 1 ศาลลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ศาลมีอำนาจตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาล เพื่อพิจารณาคำขอตีความตีความคำพิพากษา ปี ค.ศ.1962 ของกัมพูชา และคำขอนี้รับฟังได้
ประการที่ 2 ชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ โดยอาศัยการตีความคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 ว่าศาล ในคำพิพากษาดังกล่าวได้ตัดสินว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดของยอดเขาพระวิหาร ดังที่นิยามไว้ในวรรค 98 ของคำพิพากษานี้ และโดยเหตุนี้ ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องถอนกำลังทหาร หรือตำรวจ หรือผู้เฝ้ารักษา หรือผู้ดูแลของไทย ซึ่งส่งไปประจำอยู่ ณ ที่นั่น
สำหรับคำว่า ยอดเขา ขอกราบเรียนว่าเป็นคำแปลชั่วคราว มาจากภาษาอังกฤษว่า Promontory ภาษาฝรั่งเศสว่า Pointe การที่เราแปลชั่วคราวว่ายอดเขา เพราะขณะนี้ยังหาคำที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านใช้คำว่า ชะง่อนผา ในชั้นนี้ทางคณะสู้คดีก็จะรับไปพิจารณา และในคำแปลสุดท้ายอาจจะใช้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง วันนี้ต้องกราบขออภัย ขออนุญาตใช้คำว่ายอดเขาไปชั่วคราวก่อน
มีข้อสังเกตด้วยว่า ในคำแถลงของผู้พิพากษาโอวาดะ (ญี่ปุ่น) เดนฮูนา (โมร็อกโก) และกาจา (อินเดีย) บอกว่าวรรคที่ 98 การที่กล่าวถึงวรรค 98 ไว้ตรงนี้ แปลว่าวรรค 98 ของคำพิพากษาเป็นส่วนหนึ่งของส่วนที่ตัดสิน ซึ่งผูกพันคู่กรณีด้วย
ถัดไป กระผมจะรายงานในส่วนของคำพิพาษาที่เป็นเหตุผล ก็จะมีทั้งหมด 8 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 วันที่ข้อพิพาทปรากฏชัด ศาลเห็นว่าข้อพิพาทปรากฏชัดในช่วงปี 2550-2551 อันนี้ก็เป็นการฟังการต่อสู้ของเรา
ประเด็นที่ 2 อำนาจศาลแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ประเด็นว่า มีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีหรือไม่ เกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาท ในชั้นนี้ศาลชี้แจงด้วยว่า ตัวบทภาษาฝรั่งเศสของข้อ 60 ธรรมนูญ แปลคำใช้คำ dispute ภาษาอังกฤษ ว่า Contestation ซึ่งทำให้คำว่า ข้อพิพาท หรือ dispute ในข้อ 60 นี้ มีความหมายกว้างกว่าคำเดียวกัน ในข้อ 36 วรรค 2 ของศาลโลก ที่ว่าด้วยอำนาจศาลในกรณีปกติ ดังนั้น จะต้องตีความกว้างกว่าคำว่า Dispute ในข้อ 36 วรรค 2
ดังนั้น ศาลก็ตัดสินว่า ในกรณีนี้มีข้อพิพาท หรือ Dispute หรือ Contestation ในภาษาฝรั่งเศส ระหว่างคู่กรณี ว่าด้วยความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ปี 2505 อันนี้ศาลฟังฝ่ายกัมพูชา แต่เหตุผลที่ศาลใช้ ไม่ใช่เหตุผลของกัมพูชา เป็นเหตุผลของศาลเอง
ประเด็นที่ 2 ในเรื่องอำนาจศาล ข้อพิพาทที่ว่านี้ อยู่ในประเด็นใดบ้าง ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาทใน 3 ประเด็น คือ
1. ในคำพิพากษา ค.ศ.1962 ศาลได้ตัดสินโดยมีผลผูกพันหรือไม่ ว่าเส้นบนแผนที่ 1:200,000 เป็นเขตแดนระหว่างคู่กรณีในบริเวณปราสาท
2. ประเด็นความหมายและขอบเขตของข้อความว่า “บริเวณใกล้เคียงบนดินแดนของกัมพูชา”
3. ประเด็นลักษณะของพันธกรณีของไทยที่จะถอนกำลังตามวรรค 2 ของข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ปี ค.ศ.1962
ถัดไป ประเด็นที่ศาลวินิจฉัยก็คือว่า คำขอของกัมพูชารับฟังได้หรือไม่ ศาลเห็นว่า คำขอของกัมพูชารับฟังได้ เพราะคู่กรณีมีความเห็นต่างกันในเรื่องความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ปี ค.ศ.1962 จึงมีความจำเป็นต้องตีความวรรค 2 ของข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษาดังกล่าว รวมทั้งผลทางกฎหมายของสิ่งที่ศาลกล่าว เกี่ยวกับเส้นบนแผนที่ 1:200,000
ประเด็นที่ 4 ในส่วนเหตุผล คือความสัมพันธ์ระหว่างคำพิพาษาปี 1962 ในส่วนที่เป็นเหตุผล กับในส่วนที่เป็นข้อบทปฏิบัติการ
ศาลยืนยันหลักการตามแนวคำพิพากษาของศาลที่มีอยู่ว่า จะตีความในส่วนที่เป็นเหตุผลได้ ก็ต่อเมื่อส่วนนั้นแยกไม่ได้จากส่วนข้อบทปฏิบัติการ แต่ศาลมิได้ชี้ขาดในประเด็นนี้ เพียงแต่ระบุว่า ศาลจะพิจารณาส่วนที่เป็นเหตุผลของคำพิพากษา ปี ค.ศ.1962 เท่าที่ให้ความกระจ่าง เกี่ยวกับการตีความที่ควรจะเป็นของส่วนข้อบทปฏิบัติการ
ประเด็นที่ 5 วิธีการทั่วไปของการตีความ
1. ในการตีความศาลจะต้องเคารพและอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่ได้รับการตัดสินในคำพิพากษาที่ตีความ ก็คือจะต้องเคารพสิ่งที่ได้รับการตัดสิน ขอบเขตของสิ่งที่ได้รับการตัดสินในคำพิพากษา ปี ค.ศ.1962 ซึ่งภาษากฎหมายเป็นภาษาลาตินว่า Res judicata ศาลจะต้องเคารพอันนั้นเวลาตีความ
2. ศาลไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองอยู่ในข้อต่อสู้ของคู่กรณี ศาลอาจจะหาเหตุผลมาแทนได้
3. คำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรและด้วยวาจาของคู่กรณีในคดีเดิม จำต้องมาพิจารณาในการตีความ เพราะทำให้เห็นว่า คู่กรณีได้เสนอพยานหลักฐานใดต่อศาล และได้ตั้งประเด็นใดต่อศาล อย่างไร
4. ในการตีความ ศาลมีดุลพินิจจำกัดอยู่ภายใต้ขอบเขตของคำขอของคู่กรณีในคดีเดิม ตามที่ศาลเข้าใจ คำขอของคู่กรณีในคดีเดิม ตามที่ศาลในคดีเดิมเข้าใจ ซึ่งเป็นภาษากฎหมาย เป็นภาษาลาตินว่า par´tē-ūm และศาลมิอาจวินิจฉัยขอบเขตนี้ใหม่ได้ ศาลในวันนี้จะวินิจฉัยขอบเขตนี้ใหม่ไม่ได้ ทั้งนี้ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากหลักกฎหมายว่าด้วย Non ultra petita คือศาลไม่อาจจะให้เกินกว่าที่ผู้ร้องขอได้
5. คำสรุปย่อต้นคำพิพากษา หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Head note ซึ่งฉบับนี้ก็มี ในหน้าแรกๆ ท่านจะเห็นเป็นตัวเอียง เป็นคำสรุปย่อข้างหน้า ศาลบอกว่า ไม่อาจนำมาร่วมในการพิจารณาตีความได้
6. ข้อเท็จจริงที่เกิดหลังคำพิพากษาและพฤติกรรมของคู่กรณีหลังคำพิพากษา ปี 1962 ไม่อาจนำมาพิจารณาในการตีความคำพิพากษาดังกล่าว
นี่เป็น 6 ประเด็นถึงวิธีการทั่วไปของการตีความที่ศาลได้กำหนด
ถัดไป ประเด็นที่ 6 เป็นประเด็นสำคัญที่สุด คือประเด็นที่ศาลตีความ
1. ศาลตีความว่า คำพิพากษาปี ค.ศ.1962 มีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ
- ศาลในปี 2505 มิได้ชี้ขาดเรื่องเขตแดน ข้อนี้ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของเรา
- แผนที่ 1:200,000 มีบทบาทหลักในการให้เหตุผลของศาล ข้อนี้ศาลฟังกัมพูชา อย่างไรก็ดี บทบาทหลักนั้น จำกัดเฉพาะในบริเวณพิพาทในคดีเดิมเท่านั้น อันนี้น่าจะเป็นเพราะว่าศาลรับฟังข้อต่อสู้ของเราว่า คดีนี้ต้องจำกัด
- อาณาบริเวณปราสาท หรือภาษาอังกฤษว่า Legends of the temple หรือภาษาฝรั่งเศส Legends du temps มีพื้นที่จำกัดมาก และศาลในปี 2505 ได้วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องแผนที่ 1:200,000 เฉพาะในบริเวณพิพาท ซึ่งใช้คำกว่า Disputed Area หรือภาษาฝรั่งเศสว่า contestée ในคดีเดิม อันนี้เป็นประการสำคัญ ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า ศาลในปี 2505 ได้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องแผนที่ 1:200,000 เฉพาะในบริเวณพิพาทเท่านั้น บริเวณพิพาทในคดีเดิม แม้ว่าเส้นเขตแดนบนแผนที่ดังกล่าวจะยาวกว่า 100 กิโลเมตร ก็ตาม
2. ศาลได้ตีความในเรื่องความหมายของส่วนข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505
ศาลเริ่มต้นด้วยการบอกว่า ข้อบทปฏิบัติการทั้ง 3 วรรค ในปี พ.ศ.2505 ต้องพิจารณารวมกันทั้งหมด จากนั้นศาลก็ตีความวรรคที่ 1 ว่า ความหมายของวรรคที่ 1 มีความชัดเจน เพราะชี้ขาดตามคำเรียกร้องหลักของกัมพูชาในคดีเดิมว่า ปราสาทอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา จากนั้น ศาลได้ตีความวรรคที่ 2 บอกว่า วรรคที่ 2 นั้น ระบุดินแดนกัมพูชาที่ไทยต้องถอนกำลังออก โดยอ้างอิงถึงบุคลากรของไทยที่ได้ส่งไปประจำอยู่ จึงต้องดูหลักฐานในคดีเดิมว่ากำลังของไทยตั้งอยู่ที่ใด ซึ่งคำให้การของนายเฟดเดอริก แอกเคอร์มาน ได้ระบุชัดเจนถึงที่ตั้งของกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนไทย อันนี้เป็นคำให้การในคดีเดิม ปี 2504 ด้วยเหตุนี้ ศาลในวันนี้จึงเห็นว่า อย่างน้อยบริเวณใกล้เคียงปราสาท จะต้องรวมที่ตั้งของตำรวจตระเวนชายแดนไทย ตามคำให้การดังกล่าว ซึ่งที่ตั้งนั้นอยู่ทางทิศเหนือของเส้นมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 ของไทย ซึ่งมากำหนดในภายหลังคดี แต่อยู่ใต้เส้นเขตแดนบนแผนที่ 1:200,000 อันนี้เป็นคำให้การของฝ่ายไทยในสมัยนั้น ดังนั้น เส้นมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่อาจจะเป็นขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท ตามความหมายของวรรคที่ 2 ได้ คำให้การของไทยไม่ได้ให้การเกี่ยวกับเส้นมติคณะรัฐมนตรี เพราะเส้นมติคณะรัฐมนตรีเกิดทีหลังคำพิพากษา เป็นคำให้การก่อนคำพิพากษาว่า ที่ตั้งของตำรวจตระเวนชายแดนไทยนั้น อยู่เหนือสันปันน้ำที่กัมพูชาอ้างในคดีเดิม ซึ่งเมื่อศาลมาดูแล้ว ก็พบว่า เท่ากับอยู่เหนือเส้นมติคณะรัฐมนตรีซึ่งลากภายหลัง
ด้วยหลักฐาน 2 ชิ้นนี้ ศาลจึงตัดสินในวันนี้ ตัดสินตีความว่า เส้นมติคณะรัฐมนตรีไทยไม่อาจเป็นขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท ตามความหมายของวรรคที่ 2 ในความหมายของศาล ในปี 2505 ได้
ศาลตีความด้วยว่า ศาลในปี 2505 อธิบายพื้นที่รอบปราสาท โดยใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ พื้นที่รอบปราสาทนี้ ในคำตัดสินวันนี้เรียกว่า Area around the temple ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีที่มาเดิม เป็นคำที่ศาลได้กำหนดขึ้นในวันนี้ แต่สิ่งสำคัญคือ ศาลในวันนี้บอกว่า ศาลในปี 2505 ใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ สัณฐานทางภูมิศาสตร์ เป็นหลัก
จากนั้น ศาลในวันนี้ก็ตีความว่า พื้นที่พิพาทในคดีเดิม แคบและจำกัดอย่างชัดเจน ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ ด้วยสัณฐานทางภูมิศาสตร์ ในทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งหมดนี้ใช้สัณฐานทางภูมิศาสตร์ ส่วนทางเหนือนั้น จำกัดโดยขอบเขตของดินแดนกัมพูชา ตามที่ศาลชี้ขาดในส่วนเหตุผลของคำพิพากษา 2505
บริเวณใกล้เคียงปราสาท ศาลตีความว่า จำกัดอยู่เฉพาะยอดเขาพระวิหาร ตรงนี้ คือคำว่า Promontory (ขออนุญาตใช้ยอดเขาชั่วคราวไปก่อน) ศาลตีความเช่นนี้ด้วยเหตุผลว่า 1. พื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาท ไม่รวมภูมะเขือ เพราะภูมะเขือกับยอดเขาพระวิหารเป็นพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่แยกจากกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดพระวิหารของกัมพูชา ในปี 2505 ในคดีเก่า ก็ระบุว่า ภูมะเขืออยู่คนละจังหวัดกับยอดเขาพระวิหาร ทนายความของกัมพูชาท่านหนึ่งก็กล่าวว่า ภูมะเขือ ไม่ใช่บริเวณสำคัญสำหรับการพิจารณาของศาล
นอกจากนี้ ไม่มีพยานหลักฐานใดในคดีเดิมที่ชี้ว่า มีกำลังทหาร หรือตำรวจของไทย อยู่ที่ภูมะเขือในสมัยนั้น ดังนั้น ศาลจึงสรุปว่า ภูมะเขือไม่รวมอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาท ในความหมายของคดีเดิม
นอกจากนี้ ศาลยังให้เหตุผลว่า เหตุที่เลือกพื้นที่ใกล้เคียงที่ตีความในวันนี้ เป็นอย่างนี้ เพราะว่าการตีความของกัมพูชาในปัจจุบัน ที่อ้างพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นแผนที่ 1:200,000 ตามที่เขาถ่ายทอด กับสันปันน้ำตามที่ไทยเสนอ ในปัจจุบัน แต่ว่าศาลในคดีเดิมระบุไว้ชัดว่า ไม่สนใจที่จะรู้ว่าสันปันน้ำอยู่ที่ไหน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ศาลในคดีเดิมจะนึกถึงสันปันน้ำ เมื่อใช้คำว่าบริเวณใกล้เคียง
ศาลในวันนี้จึงสรุปว่า ศาลในคดีเดิมเข้าใจคำว่าบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนของกัมพูชาว่า จำกัดอยู่เพียงยอดเขาพระวิหาร และพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเล็ก และเห็นได้ชัด อันนี้ก็ถือว่าศาลฟังข้อต่อสู้ของเรา
ศาลย้ำถึง 3 แห่งเป็นอย่างน้อย ว่า จะต้องเล็ก แคบ และจำกัด บริเวณใกล้เคียง
ศาลในปัจจุบันจึงชี้ขาดว่า ไทยต้องถอนบุคลากรทั้งหมดออกจากดินแดนทั้งหมดของยอดเขาพระวิหาร ซึ่งอธิบายขอบเขตไว้ในวรรคที่ 98 แต่ศาลไม่ได้แนบแผนที่ประกอบ จึงไม่มีเส้นให้เราเห็น
ศาลรับทราบข้อต่อสู้ของไทยว่าเป็นการยากที่จะถ่ายทอดเส้นบนแผนที่ 1:200,000 ลงบนพื้นที่จริง แต่ประเด็นนี้ ศาลในคดีเดิมมิได้พิจารณา จึงอยู่นอกอำนาจศาลในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในปัจจุบันโดยสุจริต
คำว่า “สุจริต” มาจาก Good faith ในภาษาอังกฤษ Bon poil ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีความหมายเฉพาะในกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับคำว่าสุจริตทั่วๆ ไปในภาษาไทย และการถ่ายทอดเส้นบนแผนที่ 1:200,000 ลงบนพื้นที่จริงนี้ ไม่อาจดำเนินการฝ่ายเดียวได้ อันนี้คือการตีความวรรค 2 เป็นประเด็นสำคัญที่สุด
ศาลยังตีความอีกประเด็นหนึ่ง ประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างวรรคที่ 2 กับส่วนที่เหลือของข้อบทปฏิบัติการ ศาลตีความว่า ดินแดนผืนเล็กๆ ที่เป็นบริเวณใกล้เคียงในวรรคที่ 2 ของส่วนข้อบทปฏิบัติการปี 2505 มีขนาดเท่ากับ อาณาบริเวณ หรือ Temple area ในวรรคที่ 3 และมีขนาดเท่ากับดินแดน หรือ territory หรือ territoire ในวรรคที่ 1 ของข้อบทปฏิบัติการ ซึ่งทั้งหมดนี้มีขนาดเท่ากับยอดเขาพระวิหาร ที่ศาลได้อธิบายไว้ในวรรคที่ 98 ของคำพิพากษาฉบับปัจจุบัน
ประเด็นที่ 7 ในส่วนเหตุผล เป็นประเด็นที่ศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัย มี 2 ประเด็น
1. ประเด็นว่าศาลในคดีเดิมได้กำหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยมีผลผูกพันหรือไม่
2. พันธกรณีการถอนกำลังของไทย เป็นพันธกรณีต่อเนื่องตามความหมายของคำขอของกัมพูชาหรือไม่
สองประเด็นนี้ศาลไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องวินิจฉัย
ประเด็นที่ 8 ประเด็นที่ศาลระบุเพิ่มเติม ศาลระบุว่าไทยและกัมพูชาต้องร่วมมือกัน และร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องปราสาท ในฐานะที่เป็นมรดกโลก และจำเป็นต้องให้มีทางเข้าถึงปราสาทจากที่ราบในฝั่งกัมพูชา กราบขอบพระคุณครับ”
ต่อมา หลังจากที่ ส.ส.และ ส.ว.ได้มีการตั้งคำถามถึงขอบเขตของคำว่า Promontory หรือ ยอดเขา ที่เป็นพื้นที่ของกัมพูชาตามคำพิพากษาของศาลโลก นายวีรชัยได้ลุกขึ้นชี้แจงเพิ่มเติม
“...ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีชื่อเดียวกัน ศาลท่านจับตรงนี้ “ยอดเขา” ตรงนี้คณะสู้คดีเรามองว่าจริงๆ แล้วศาลท่านรับฟังเราในแงหนึ่ง ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับสำคัญ ประเด็นสำคัญ เพราะว่าถ้าเทียบกับพื้นที่..(ตัดเข้าเคารพธงชาติ)...ท่านหยุดอยู่แค่วรรค 1 และท่านหยุดอยู่ที่คำว่า Promontory ดังนั้นก็เรียกว่าศาลฟังเราในชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วศาลก็พัฒนาการตีความของท่านมาถึงจุดที่ว่า ท่านย้อนไปที่ว่าคำฟ้องกัมพูชาฟ้องว่า ให้เราถอนกำลังออกจากปราสาท ซึ่งท่านก็บอกว่า ในที่สุดแล้วมันก็คือ territory ในวรรคที่ 1 ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่ territory ทั้งประเทศกัมพูชา แต่เฉพาะตรงนั้น แล้วก็บอกว่า จริงๆ แล้วเท่ากับ temple area ในวรรคที่ 3 ก็แปลว่า promontory, temple area, vicinity ทุกอย่างเป็นคำเดียวกันหมด และจะแคบและจำกัด คือเป็นการสำเร็จที่ดึงมันลงมา โดยศาลเอากำลังของไทยเป็นหลักว่าตั้งอยู่ที่ไหน
ทีนี้ท่านก็มานิยาม promontory ในวรรคที่ 98 ดังที่เราทราบกัน เราจะเห็นว่าท่านชี้ชัดว่า 2 ด้าน หรือจะเรียกว่า 3 ด้านก็ได้ ข้างล่าง ตะวันออก ใต้ ตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ ท่านใช้ภูมิศาสตร์หมดเลย มีเพียงทางเหนือเท่านั้นที่ท่านกำหนดให้ใช้เส้นของแอนเน็กซ์ 1 และท่านก็ไม่ได้บอกด้วยว่าเส้นนั้นเป็นเขตแดนหรือเปล่า ไม่ได้พูดว่าเป็นเส้นเขตแดนหรือไม่ ดังนั้น ผมกับที่ปรึกษาก็มีความเห็นว่า สิ่งที่ได้รับการตัดสินในคำพิพากษาวันนี้ ฉบับใหม่นี้ เส้นที่กั้นทางเหนือของพื้นที่นี้ ไม่ได้เป็นเขตแดน ในส่วนที่ตัดสิน แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ท่านผู้พิพากษา Guillaume ซึ่งกัมพูชาเขาตั้ง ท่านบอกว่าเป็น อย่างไรก็ดี ก็เป็นความเห็นหนึ่งเดียว ก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ศาลตัดสิน
เรามองว่า 2 ประเด็นที่จะต้องมองตรงนี้แล้ว ว่า หนึ่ง 98 นี้ แม้ว่าเราจะบรรยายไว้ แต่ว่าเอาไปปฏิบัติไม่ได้ เพราะบอกว่าทางเหนือใช้เส้นที่เป็นเส้นแผนที่ 1:200,000 ดังนั้นก็ต้องมาใช้ 99 ซึ่ง 99 เรามองว่าเป็นประโยชน์แก่เราอย่างยิ่ง เป็นผลพวงจากการที่เราได้เสนอแผน ผลงานศึกษา ทางด้านการแผนที่ เพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่า เส้นบนแผนที่ 1:200,000 ถ่ายทอดออกมาแล้ว ทำไม่ได้ นอกจากว่าจะเกิดเป็นเส้นตามอำเภอใจ เปลี่ยนจุดนิดเดียว พื้นที่จะขยับไปเยอะมาก ไม่สามารถที่จะมีเส้นที่ reliable และยุติธรรมได้ เราก็ได้เสนอต่อศาลว่า จริงๆ แล้ววิธีที่จะถ่ายทอดเส้นนี้ให้ถูกต้องที่สุด ต้องใช้เจตนารมณ์ผู้ทำแผนที่ พ.อ.แบร์กนาร์ และคณะ ซึ่งเจตนารมณ์นั้นคือการแสดงสันปันน้ำ เราก็คิดว่า 99 น่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่า ศาลท่านดูเหมือนจะรับฟัง ศาล notes คือศาลรับทราบความยากในการถ่ายทอดเส้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิด ว่าศาลรับทราบ ซึ่งแปลว่าอะไร ก็แปลว่ามันต้องมีพื้นฐานอะไรบางอย่าง การศึกษาของเรา ที่ทำให้เขาเห็นแล้ว แล้วเขาก็เลยบอกว่า การถ่ายทอดเส้นเขาทำไม่ได้ เพราะว่าศาลในคดีเดิมเขาไม่ได้ทำ ถ้าเขาทำเขาจะออกนอก แต่เขาขอให้เราไปทำ คู่กรณีไปเจรจา โดยมี 2 เงื่อนไข คือ 1. จะต้องสุจริต สุจริตนี่ตามความหมายกฎหมายระหว่างประเทศ 2. ห้ามทำฝ่ายเดียว ซึ่งหมายความว่าต้องเจรจา และตราบใดที่การเจรจานั้นยังไม่สำเร็จ เรายังรับไม่ได้ หรือเขายังรับไม่ได้ มันก็ต้องเจรจากันต่อไป
ผลอีกอันหนึ่งของวรรค 99 ที่กระผมมีความเห็นว่าเราน่าจะลองพิจารณากันดู และเป็นผลที่สำคัญมากๆ ก็คือว่า การที่ศาลบอกว่าถ่ายทอดฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็แปลว่าเส้นแผนที่ 1:200,000 ใดๆ ที่ได้มีการถ่ายทอดฝ่ายเดียว ต้องตกไปทั้งหมด ในคดีปัจจุบันมีเพียงเส้นเดียวที่เป็นเส้นแผนที่ 1:200,000 ที่ถ่ายทอด คือเส้นที่กัมพูชาอ้างในคดีปัจจุบัน คือเส้นที่กัมพูชาอ้างในคดีปัจจุบัน ที่เป็นเส้นที่ทำให้เกิด 4.6 อีกเส้นของเรา เส้นมติคณะรัฐมนตรี ไม่เกี่ยวอะไรกับแผนที่ 1:200,000 เราไม่ได้ทำเส้นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อถ่ายทอดเส้น 1:200,000 เราทำเส้นมติคณะรัฐมนตรีของเราเพราะเราเชื่อว่ามันตรงกับสันปันน้ำ สิ่งที่กัมพูชาต้องการ ในคดีเก่า ก็คือสิ่งที่เขาเรียกร้องในขณะนั้น เราก็กั้นให้เขา แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเส้น 1:200,000
ผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญ เพราะว่าเส้นกัมพูชาเส้นนี้ ที่ 4.6 นี้ ต้องตกไปเลย จะต้องไม่เหลือซากให้มากวนใจเราได้อีก และจะต้องชี้แจงอันนี้แก่เขาว่ามันหมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นในการถ่ายทอดเส้นบริเวณแคบๆ บริเวณนี้ กัมพูชาจะมาเริ่มต้นด้วยเส้นนี้ไม่ได้ อ่านวรรค 99 แล้ว ผมอ่านอย่างนั้น ที่ปรึกษาอ่านอย่างนั้น แต่ทำอย่างไร เป็นอีกปัญหาหนึ่ง
อีกประเด็นที่อยากจะชี้ก็คือว่า การที่ศาลมุ่งไปที่ภูมิศาสตร์ จริงๆ แล้วเรามองว่าเป็นประโยชน์แก่ไทย เพราะว่าเท่ากับลดบทบาท เส้นแผนที่ 1:200,000 แผนที่ 1:200,000 จะเข้ามาได้จำกัดมาก เพราะมันจะถูกภูมิศาสตร์บีบเอาไว้จนเหลือให้แคบที่สุด เพราะฉะนั้นในการเจรจา ก็สามารถที่จะพยายามดูว่า ที่ศาลหมายความอย่างนี้ อยู่ตรงนี้ สัณฐานทางภูมิศาสตร์ที่จะนำมาใช้อยู่ตรงไหนบ้าง เส้น 1:200,000 จะเข้ามา ต้องจำกัดอยู่แค่นั้นเท่านั้น
ทีนี้ ประเด็นว่า จะถ่ายทอดยังไง จะเจรจาอย่างไร นี่ล่ะครับ คงจะหนีไม่พ้น ต้องใช้วิธีการกฎหมายระหว่างประเทศ คือการเจรจาโดยสุจริต ซึ่งจะใช้กลไกใด อะไร ตรงนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ก็แล้วแต่ความเหมาะสม แต่การเจรจาโดยสุจริตก็จะต้องเริ่มขึ้น และตราบใดที่ยังทำไม่สำเร็จ ก็ยังคงบอกไม่ได้ว่าเส้นจะหน้าตาเป็นอย่างไร และพื้นที่ที่ไทยจะเสียหรือไม่เสีย หรือจะได้ เป็นอย่างไร เรายังไม่อาจที่จะด่วนสรุปได้ในชั้นนี้ สิ่งที่เราวางแผนกับคณะที่ปรึกษาก็คือ หนึ่ง ต้องดูกันภายในเราเองก่อน วางแผนให้ดีว่าเราจะเข้าพื้นที่ยังไง เราจะเริ่มเข้าไปเจรจายังไง แล้วจากนั้น กระบวนการเจรจาเริ่มแล้วมันก็จะต้องเดินไป ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้นคงจะไม่สามารถสรุปได้ แล้วถ้าถามผมกับที่ปรึกษาวันนี้ ว่าเส้นจะหน้าตาเป็นยังไง พื้นที่จะออกมาเป็นยังไง ก็ยังตอบไม่ได้จริงๆ ครับ อาจจะต้องรอจนกระทั่งเรามีท่าทีแล้ว แล้วก็เราไปเริ่มเจรจา อาจจะสามารถพอที่จะมีสิ่งบ่งชี้ได้
ประเด็นถัดไปที่กระผมอยากจะเรียนก็คือว่า ทำไมเส้นมติคณะรัฐมนตรีของเราถึงตกไป ทำไมศาลถึงไม่รับ ผมขอเรียนเลยว่าไม่มีเหตุผลตรงไหนในนั้นเลย ที่บอกว่าเส้นมติ ครม.ของเรา พื้นฐานไม่ดี หรือไร้เหตุผล หรือเป็นเส้นตามอำเภอใจ แน่นอนศาลชี้ว่าเป็นเส้นที่เราทำฝ่ายเดียว แต่ศาลไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีตรงไหน เหตุผลที่ตกไป ตามที่กระผมเรียน เป็นเพราะเรื่องเดียว คือพยานหลักฐาน 2 ชิ้น ซึ่งได้ไปถ่ายมาแล้ว ให้ท่านไปแล้ว ในเอกสารประมวลคดีเดิม คือคุณอัคเคอร์มาน บอกว่ามีสถานีตำรวจ มีที่ตั้งตำรวจอยู่ แล้วฝ่ายไทยก็บอกว่าที่ตั้งตำรวจนั้นอยู่เหนือสันปันน้ำที่กัมพูชาต้องการ ศาลก็สรุปได้ว่า ที่ตั้งตำรวจนั้นอยู่เหนือเส้นมติ ครม.ก็เลยตกไปด้วยประการฉะนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้บอกว่าเส้นนี้มีปัญหาอะไรตรงไหน
อย่างไรก็ดี การที่ศาลชี้ว่าเป็นเส้นที่เราทำฝ่ายเดียว ก็เห็นได้ชัดว่า ศาลก็มองว่าเส้นนี้มิได้มีการยอมรับ แม้เราจะได้ต่อสู้ว่ากัมพูชายอมรับแล้ว แต่ศาลก็ไม่ฟังข้อต่อสู้ของเรา
ประเด็นนี้ผมขอเรียน และด้วยความเคารพศาล และเรียนทางวิชาการว่า จริงๆ แล้วศาลน่าจะรับฟังเรา เพราะข้อต่อสู้หลักของเรา ที่ศาล เราสู้ว่ากัมพูชาไม่เคยร้องเรียนว่าไทยมิได้ถอนออกจาก vicinity การร้องเรียนใดๆ ของกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นระดับทวิภาคี หรือที่สหประชาชาติ หรือแม้แต่ที่คณะมนตรีความมั่นคงในปี 2509 ก็มิได้เป็นการขอบังคับคดีตามข้อ 94 และก็มิได้ร้องเรียนว่าไทยมิได้ถอน แต่บางครั้งร้องเรียนว่าไทยจะไปเอาปราสาทคืน หรือร้องเรียนว่ารั้วลวดหนามล้ำ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ ข้อต่อสู้ทั้งหมดนี้ศาลไม่ฟัง ซึ่งศาลก็สรุปว่าเป็นเส้นที่เราทำขึ้นฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นสถานะในสายตาของศาลก็ไม่มี และยิ่งไม่มีตำรวจ ที่ตั้งตำรวจอยู่ในพื้นที่ที่เรากันให้เขาไป ก็เลยตกไป แต่จริงๆ แล้วเส้นมติ ครม.ก็เป็นทางเลือก 1 ใน 2 เท่านั้น ในสมัยโน้น อีกทางเลือกหนึ่งศาลก็ทราบและเห็น ซึ่งเป็นเอกสารหนึ่งในคดี ในการเจรจาเราก็นำมาประกอบได้
ประเด็นถัดไปที่กระผมอยากจะเรียนก็คือว่า คดีนี้เราคงไม่อาจดูได้ด้วยตัวเลข พื้นที่ หรืออะไร เพราะในที่สุดตอนนี้เราก็ยังไม่ทราบ แต่สิ่งที่เราน่าจะดูก็คือ ในทางการต่อสู้ ข้อต่อสู้ทางกฎหมาย ศาลได้ให้แก่เรามากหลายประการ ซึ่งส่งผลในระยะยาว ดีอย่างยิ่ง ประเด็นใหญ่ๆ 2 ประเด็น ประเด็นแรกผมเรียนไปแล้ว คือเส้น 4.6 เส้นที่ทำให้เกิด 4.6 ตารางกิโลเมตร ต้องตกไป เพราะเส้นถ่ายทอดใดๆ ที่ทำฝ่ายเดียว ศาลไม่รับ ต้องตก ต้องทำสองฝ่ายเท่านั้น อันนี้สำคัญ
อีกอันหนึ่งก็คือว่า จุดอ่อนที่มีท่านวุฒิสมาชิก ท่านคำนูณ บอกว่า จุดอ่อนของเรามาตลอด อันนี้เป็นความจริง จุดอ่อนนี้ บัดนี้เราเชื่อว่ามันตกไปแล้ว กัมพูชาอาจจะไม่เห็น แต่โดยผลคำพิพากษานี้ชัดเจน อะไรที่ออกนอกพื้นที่นี้ กัมพูชาไม่สามารถจะอ้างได้เลยว่าแผนที่ 1:200,000 เส้นเขตแดนบนนั้น ผูกพันเราโดยผลของคำพิพากษาปี 2505 จะผูกพันหรือไม่ นี่ต้องมาเจรจา จะด้วยเหตุผลอื่นก็แล้วไป แต่สิ่งที่เขาทำมาตลอด 50 ปี ที่บอกว่าศาลตัดสินไปแล้ว เส้นนี้ผูกพันไทยทั่วไปหมด ไม่นะครับ นับจากนี้ไป จะจำกัดอยู่เฉพาะตรงนี้เท่านั้น และถูกจำกัดอยู่ด้วยขอบภูมิศาสตร์ด้านตะวันออก ใต้ ตะวันตก ของ promontory ตามที่จะได้เจรจากันต่อไป ออกไปจากนี้ ไม่มีครับ และอันนี้แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบที่กัมพูชาท่านตั้งเอง ก็ยืนยันเช่นนั้น อยู่ในวรรค 11 ของความเห็นของท่านผู้พิพากษาสมทบของคำแถลง
ผมคิดว่า แน่นอนครับ มันมีข้อเสีย แต่ข้อดีมีมากมายหลายประการ เรากำลังรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อดีเหล่านี้ เพื่อเทียบกับข้อเสีย แต่ว่าในแง่พื้นที่เราเปรียบเทียบไม่ได้แน่นอน เพราะเราไม่ทราบว่าหน้าตาจะเป็นยังไง และเรากำลังศึกษาว่าจะเข้าสู่การเจรจายังไงให้ดีที่สุด ในชั้นนี้ผมขออนุญาตอธิบายแค่นี้ก่อน ขอบคุณครับ”
นับจากนี้ไป ภาษาอังกฤษ 在 ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป ภาษาอังกฤษ - YouTube 的推薦與評價
ตั้งแต่ตอน นี้ เป็นต้น ไป ภาษาอังกฤษ. 30K views · 9 years ago ...more. Adam Bradshaw. 1.28M. Subscribe. 1.28M subscribers. 316. Share. Save. ... <看更多>
นับจากนี้ไป ภาษาอังกฤษ 在 “จากนี้ไป” “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” ภาษาอังกฤษพูดว่าอย่างไร - YouTube 的推薦與評價
“ จากนี้ไป ” “ตั้งแต่วัน นี้ เป็นต้น ไป ” ภาษาอังกฤษ พูดว่าอย่างไร. 799 views · 4 months ago ...more. ครูโรซี่: British English. 33.4K. Subscribe. ... <看更多>