การเกิดของกฎหมาย
เมื่อพิจารณาศึกษาถึงการเกิดของกฎหมายการเกิดของกฎหมายนี้ผู้เขียนจะอธิบายถึงการอุบัติหรือการเกิดขึ้นของกฎหมายกับแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมาย ดังนี้
1 การอุบัติหรือการเกิดขึ้นของกฎหมาย
เมื่อพิจารณาศึกษาถึงการเกิดของกฎหมาย จะเห็นได้ว่าการที่มนุษย์จะสามารถพัฒนามาจนถึงระบบกฎหมายดังที่ปรากฏ และมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบันทั้งใน ระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) นั้นได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางความคิดทางรูปแบบและโครงสร้างของกฎหมายหลายยุคหลายสมัย ซึ่งพอสรุปอย่างคร่าวๆ ว่ากฎหมายได้ปรากฏตัวขึ้นโดยมีวิวัฒนาการกฎหมายของมนุษย์ เป็น 3 ยุค คือ ยุคกฎหมายชาวบ้าน ยุคกฎหมายของนักกฎหมายและยุคกฎหมายเทคนิค ดังนี้
1.1 ยุคกฎหมายชาวบ้าน
กฎหมายในยุคนี้กฎหมายนั้นค่อยๆก่อตัวขึ้นตามวิถีของคนในสังคม ซึ่งแต่ละคนย่อมมีชีวิต เสรีภาพและการแสวงหาความสุข ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่มนุษย์กำเนิดขึ้นในธรรมชาติ มนุษย์ไม่อาจอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวในธรรมชาติ จึงต้องรวมตัวกันเพื่อแบ่งหน้าที่และช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งทางตรงและทางอ้อมในปัจจัย 4 ที่จำเป็นแห่งการดำรงชีวิต อันได้แก่ อาหารเพื่อดำรงชีวิต เครื่องนุ่งห่มเพื่อปกป้องร่างกาย ที่อยู่อาศัยเพื่อความปลอดภัยและยารักษาโรคเพื่อรักษาสุขภาพ จากความต้องการปัจจัย 4 นี้เองมนุษย์จึงต้องรวมตัวกัน เพื่อต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิติและต้องการอยู่ดีกินดีมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันในสังคมมากขึ้น ความเห็นแก่ตัวของคนแต่ละคนเกิดจากตัณหาภายในและความเสื่อมถอยแห่งคุณธรรมของคน ก็จะทำให้มนุษย์บางกคนกระทำความผิด เช่น การละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน การหยิบฉวยสิ่งของอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมหรือเจ้าของไม่ยินยอม การพรากลูกผิดเมียเขา การทำร้ายร่างกายและชีวิตของผู้อื่น ฯลฯ ความผิดเหล่านี้เมื่อมีมากขึ้นย่อมจะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยส่วนรวมในสังคมวุ่นวายไม่สงบ มนุษย์ส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับอันเป็นเงื่อนไขข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนในสังคมยึดถือปฏิบัติร่วมกัน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ว่านี้ค่อยพัฒนาจนเรียกว่า “กฎหมาย” (Law) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่ปรากฏออกมาในรูปของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ
1.ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลานาน
2.ต้องเป็นที่ยอมรับกันในชุมชนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าไม่ปฏิบัติตามเช่นนั้นก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิด
1.2 ยุคกฎหมายนักกฎหมาย
ยุคกฎหมายนักกฎหมาย เป็นยุคที่กฎหมายเจริญขึ้นต่อจากยุคแรก ซึ่งยังไม่สามารถแยกกฎหมายออกจากศีลธรรม ต่อมาถึงยุคกฎหมายของนักกฎหมายมองเห็นว่ากฎหมายเป็นกฎเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากศีลธรรมและจารีตประเพณี มีกระบวนการพิจารณาและบังคับคดีชุมชน คือ เริ่มจากการปกครองที่เป็นรูปธรรมทำให้ชุมชนกลายเป็นชุมชนที่เจริญมีกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้มีกฎเกณฑ์เกิดขึ้นใหม่เป็นการเสริมกฎเกณฑ์เก่าที่มีอยู่ในรูปแบบขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อเติมแต่งให้มีรายละเอียด เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในคดีที่สลับซับซ้อน เมื่อตัดสินคดีไปหลายคดี ข้อที่เคยปฏิบัติในการพิจารณาคดีก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่เราเรียกว่า “กฎหมายของนักกฎหมาย”
1.3 ยุคกฎหมายเทคนิค
ยุคกฎหมายเทคนิค เมื่อสังคมเจริญขึ้นการติดต่อระหว่างคนในสังคมมีมากขึ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้นซับซ้อนยิ่งขึ้น เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการดำรงชีวิตก็มีมากขึ้น ความขัดแย้งในสังคมก็มีมากขึ้น กฎเกณฑ์ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีไม่เพียงพอ จึงจำต้องมีกฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้นมาทันทีเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาศึกษาถึงกฎหมายเทคนิคเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยกระบวนการนิติบัญญัติ ที่จะต้องมี 2 ประการคือ
1.เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นทันทีเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ ซึ่งเป็นเหตุผลทางเทคนิค
2. เป็นกฎหมายที่เป็นกฎเกณฑ์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับศีลธรรมหรือไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมหรือไม่ก็ได้
เมื่อพิจารณาศึกษาถึงตัวอย่างยุคกฎหมายเทคนิค เช่น แต่เดิมไม่รถยนต์ในการสัญจรของคนในสังคม มีแต่เทียมเกวียนใช้ในการสัญจรไม่มีความสลับซับซ้อน แต่ตอมาสังคมมีความเจริญก้าวหน้ามีรถยนต์ใช้ในการสัญจรจำเป็นต้องมีกฎหมายขึ้นมาแก้ไขปัญหาการสัญจรของคนในสังคม ก็การออกกฎหมายจราจรขึ้นมาเป็นต้น เป็นต้น
2. แหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมาย
เมื่อพิจารณาศึกษาถึงแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายจะพบว่ามีแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมาย 2 แหล่งด้วยกัน คือ แหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรกับแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้
2.1 แหล่งที่มาของกฎหมายมหาชนที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร
กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรหรือบรรดากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่องค์กรของรัฐตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศใช้บังคับแก่ราษฎรมีอยู่หลายรูปแบบ ในกรณีของไทยสามารถจำแนกที่มาของกฎหมายลายลักษณ์อักษร มีอยู่ 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ที่มาของรัฐธรรมนูญ ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ และที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายลำดับรอง
2.1.1 ที่มาของกฎหมายที่มีสถานะสูงสุดในการปกครองประเทศ
ที่มาของกฎหมายที่มีสถานะสูงสุดในการปกครองประเทศจะพบว่ามีอยู่ 2 กรณี คือ ในกรณีปกติกับที่มาของกฎหมายที่มีสถานะกฎหมายสูงสุดการปกครองประเทศในกรณีที่ไม่ปกติ ดังนี้
2.1.1.1. ที่มาของกฎหมายสถานะสูงสุดการปกครองประเทศในกรณีปกติ
โดยทั่วไปในการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกถือว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด” รัฐธรรมนูญ (Constitution) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่มี “อำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญ” ซึ่งอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจที่ควบคู่กับ “อำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ” เพราะถ้าไม่มีผู้จัดให้มีก็ย่อมไม่มีผู้จัดทำ ดังนั้นผู้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญสามารถแยกประเภทผู้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักจำนวนและสถานะของผู้จัดทำ ซึ่งอาจจะมาจากการจัดทำบุคคลคนเดียว หรืออาจะมาจากการจัดทำโดยคณะบุคคล หรืออาจจะมาจาการจัดทำโดยสภานิติบัญญัติ หรืออาจจะมาจากการจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ เช่น องค์กรที่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550 เป็นต้น
2.1.1.2 ที่มาของกฎหมายที่มีสถานะกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศกรณีที่ไม่ปกติ
ในกรณีที่มีการปฏิวัติหรือรัฐประหารขึ้นคณะปฏิบัติออกประกาศคณะปฏิวัติขึ้นมาปกครองปกครองเทศในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ (Sovereignty) เช่น ประกาศ คำสั่งต่างๆ ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)ย่อมถือได้ว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าการประกาศหรือคำสั่งนั้นจะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2549 ฉบับชั่วคราว เท่ากับว่าประกาศคำสั่งต่างๆของ คปค.มีค่าเสมือนหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะสามารถขัดกับรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่มีศาลหรือองค์กรใดๆเข้าตรวจสอบได้ เป็นต้น
2.1.2 ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ
ที่มาของระดับกฎหมายบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยการพิจารณาองค์กรหรือสถาบันที่เป็นผู้ตรากฎหมายออกมาใช้บังคับและการพิจารณาจากกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติที่ประเทศไทยได้ยอมรับกับกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติยังมีการโต้แย้ง ดังนี้
2.1.2.1 ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติที่ประเทศไทยได้ให้การยอมรับ
ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติที่ประเทศไทยได้ให้การยอมรับ โดยพิจารณาจากองค์กรเป็นผู้ตรา คือ กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติ
1.กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติ ฝ่ายนิติบัญญัติหรือองค์กรนิติบัญญัติ (Legislative) ของไทยประกอบด้วยพระมหากษัตริย์และรัฐสภารวมกัน ซึ่งหมายความว่าพระมหากษัตริย์ และรัฐสภาจะต้องเห็นพ้องต้องกันให้ร่างกฎหมายออกมาใช้บังคับ ประเภทของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายและกฎมณเฑียรบาล
1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (Organic Law) ได้แก่ บรรดากฎเกณฑ์ที่ออกมาขยายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางการเมืองการปกครอง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอาศัย อำนาจที่รัฐธรรมนูญถวายให้แก่พระองค์ตราขึ้นใช้บังคับตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญรองจากรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เป็นกฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญสูญสิ้นไปกฎหมายเหล่านี้ก็สูญสิ้นไปด้วย
2) พระราชบัญญัติ (Act) ได้แก่ บรรดากฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอาศัยอำนาจที่รัฐธรรมนูญถวายให้แก่พระองค์ตราขึ้นใช้บังคับตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญสูญสิ้นไปกฎหมายเหล่านี้ก็ยังคงบังคับใช้อยู่ต่อไป
3) ประมวลกฎหมาย (Code of Law) เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ได้รวบรวมกฎหมายเรื่องเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันมาบัญญัติไว้รวมกัน เป็นเรื่อง เป็นหมวด เป็นหมู่ อย่างเป็นระบบ เพื่อสะดวกในการศึกษา สำหรับประเทศไทยมีประมวลกฎหมายที่สำคัญที่ออกโดยองค์กรนิติบัญญัติ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลรัษฎากร เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามจะใช้ประมวลกฎหมายใช้บังคับได้นั้นจะต้องมีกฎหมายออกมากำหนดให้ใช้ประมวลกฎหมายนั้นด้วย
4) กฎมณเฑียรบาล (Royal Law) หมายถึง ข้อบังคับที่ว่าด้วยการปกครองภายในพระราชฐาน กฏมนเฑียรบาลนั้นมีมาแต่โบราณแล้ว เป็นกฎหมายส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีต้นกำเนิดมาจากตำราราชประเพณีของพราหมณ์ที่เรียกว่า คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย ซึ่งได้แก่
(1) กฎมนเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรส แห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2467 และแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475
(2) กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 ซึ่งในส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ พุทธศักราช 2467 เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบและให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
2.กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ออกโดยฝ่ายบริหาร (Executive) ที่มาของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร หรือเรียกว่า องค์กรบริหารบัญญัติที่สำคัญ คือ
1) พระราชกำหนด (Royal Act) ซึ่งพระราชกำหนด หมายถึง กฎหมายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอาศัย พระราชอำนาจที่รัฐธรรมนูญถวายแก่พระองค์ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรีและมีค่าบังคับเช่นพระราชบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตามพระราชกำหนดประกาศใช้แล้วเมื่อถึงสมัยประชุมนิติบัญญัติจะต้องนำพระราชกำหนดที่ประเทศใช้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยองค์กรนิติบัญญัติ ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติผ่านพิจารณาอนุมัติ พระราชกำหนดนั้นจะกลายเป็นพระราชบัญญัติทันที แต่ถ้าพระราชกำหนดนั้นไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดนั้นจะตกไป
2) กฎอัยการศึก (Martial Law) ซึ่งกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารออกกฎหมายในยามฉุกเฉิน ภาวะไม่ปกติจากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ ภาวะไม่ปกติอันเนื่องจากเหตุการณ์ภายนอกประเทศกับภาวะไม่ปกติอันเนื่องจากเหตุการณ์ภายในประเทศ กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารออกกฎอัยการศึกได้ตามลักษณะและวิธีกรตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกษา
2.1.2.2 ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติที่ประเทศไทยยังมีการโต้แย้ง
ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติที่ประเทศไทยยังมีการโต้แย้ง คือ กฎหมายที่ประกาศโดยคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ (Announcement of the Revolutionary Council) ที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติ ที่ตราออกมาโดยคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจการปกครองหรือใช้อำนาจทางนิติบัญญัติออกประกาศคณะปฏิวัติหรือคำสั่งคณะปฏิรูปขึ้นมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองถือว่าอยู่ในกลุ่มกฎหมายที่ตราโดยองค์กรบัญญัติด้วย แต่ก็ยังมีความขัดแย้งในทางวิชาการเป็นอย่างมากในสังคมปัจจุบันของประเทศไทยว่า “ประกาศคณะปฏิวัติเป็นแหล่งที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” ซึ่งยังมีความเห็นอยู่ 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติที่เป็นแหล่งที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ เพราะได้มีศาลพิพากษาศาลฎีกา คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รับรองและมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
กลุ่มที่ 2 เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติที่เป็นแหล่งที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ เพราะไม่มาจากองค์กรที่มีอำนาจตรากฎหมายที่ได้รับความยินยอมจากประชาชนตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
2.1.3 ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายลำดับรอง
ที่มาของระดับกฎหมายลำดับรอง (Subordinate legislation) โดยที่กฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญ และระดับกฎหมายบัญญัติ ให้อำนาจในการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งมีฐานะ เป็น “กฎ” เนื้อหาของกฎหมายระดับลำดับรองเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อปรับใช้กฎหมายที่ลำดับสูงกว่า เนื่องจากบัญญัติรายละเอียดเหล่านี้ กฎหมายแม่บทไม่สารถทำได้ล่วงหน้าสมบูรณ์เหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กฎหมายแม่บทได้เพียงแต่กำหนดกรอบไว้เท่านั้น และที่สำคัญกฎหมายระดับกฎหมายลำดับรองไม่สามารถมีเนื้อหาสาระเกินไปกว่าที่ตัวบทบัญญัติในกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ได้
ในปัจจุบันของประเทศไทย โดยพิจารณาถึงองค์กรผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายลำดับรอง ผู้เขียนสามารถสรุปออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหารและองค์ที่อยู่ภายใต้สังกัดฝ่ายบริหาร กับกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรที่มิได้อยู่ภายใต้สังกัดฝ่ายบริหาร ดังนี้
2.1.3.1 กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหารและองค์ที่อยู่ภายใต้สังกัดฝ่ายบริหาร
กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหารและองค์ที่อยู่ภายใต้สังกัดฝ่ายบริหาร จะแยกอธิบายการออกกฎหมายลำดับรองของแต่ละองค์กร ดังนี้
1.ที่มาของระดับกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรฝ่ายบริหาร ได้แก่
1) พระราชกฤษฎีกา (Royal Decree) คือ บรรดากฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ หรือ ทรงอาศัยอำนาจตามตามกฎหมายระดับบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งตราขึ้นใช้บังคับตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งแสดงว่าการตราพระราชกฤษฎีกาที่เป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารนั้น อาศัยอำนาจได้ 2 ทาง คือ อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ กับอาศัยอำนาจตามกฎหมายระดับบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่ง
ข้อสังเกต พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญในความเห็นของผู้เขียน ถือว่า เป็นกฎหมายลำดับรอง ดังเช่นพระราชกฤษีกาที่ออกโดยพระราชบัญญัติ แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ว่า พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การกระทำทางการเมืองเพื่อให้ฝ่ายบริหารถ่วงดุลและคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติที่มีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา เป็นดุลพินิจฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงไม่อยู่ภายใต้ตรวจสอบของอำนาจตุลาการ ส่วนการกระทำทางปกครองจะอยู่ภายใต้การตรวจสอบของอำนาจตุลาการ คือ ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี
แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาที่น่าขบคิดถึงสถานะของพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจ มาตรา 230 วรรค 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายระดับลำดับรอง ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีดังกล่าว เป็นกฎหมาย เป็นที่มาของกฎหมายในระดับกฎหมายบัญญัติ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 27/2540 ในความเห็นผู้เขียนด้วยความเคารพศาลรัฐธรรมนูญผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว เพราะเป็นการสร้างความยุ่งยากในเรื่องของการจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
2) กฎกระทรวง (Ministerial Regulations) คือ บรรดากฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง อาศัยอำนาจจากพระราชบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งตราออกมาใช้บังคับ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
3) ประกาศกระทรวง (Ministerial Announce) คือ บรรดากฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่ง ตราออกมาใช้บังคับ
มีข้อพิจารณาเกี่ยวกับกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงนั้นต่างก็เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งนั้นเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันตรงที่กฎกระทรวงจะประกาศใช้ได้นั้นจำเป็นต้องผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี แต่ประกาศกระทรวงไม่ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐมนตรี สามารถประกาศใช้ได้เลย
4) มติคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ที่มีสถานะเป็นกฎหมายลำดับรอง มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดหลักเกณฑ์ให้ส่วนราชการและข้าราชการถือปฏิบัติเป็นการทั่วไป แม้ไม่มีผลโดยตรง แต่ส่วนราชการต่างๆสามารถนำมติคณะรัฐมนตรีไปใช้บังคับกับข้อเท็จจริงกรณีต่างๆให้เกิดผลทางกฎหมายได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น มติคณะรัฐมนตรีที่มีสถานะเป็นกฎ เช่น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วยการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐพิจารณาการขอเลขหมายโทรศัพท์ใหม่ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามยังมีระเบียบที่เป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ เช่น พระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2502 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกระเบียบว่าด้วยเงินทดรองราชการได้ เป็นต้น
2. กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรที่สังกัดฝ่ายบริหาร คือ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและองค์กรวิชาชีพ ดังนี้
1) ที่มาของกฎหมายระดับรองที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ (Public Enterprise) กฎหมายที่จัดตั้งรัฐวิสาหกิจโดยพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกา ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจสามารถออกกฎระเบียบข้อบังคับภายในองค์กรรัฐวิสาหกิจแต่ละรัฐวิสาหกิจกับประชาชนที่ไปใช้บริการสาธารณะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนได้ เช่น ระเบียบข้อบังคับของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น
2).ที่มาของกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์การมหาชน (Public Organization) ซึ่งองค์การมหาชน คือ องค์กรที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นมาให้อำนาจองค์การมหาชน ออกระเบียบข้อบังคับกับประชาชนที่ไปใช้บริการสาธารณะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนได้ ซึ่งกฎระเบียบข้อบังคับขององค์การมหาชนถือเป็นกฎหมายลำดับรอง ดังนั้นในการพิจารณาคดีสามารถอ้างอิงได้ ลักษณะเป็นองค์การมหาชน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น
3.) ที่มากฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Government) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่ 5 รูปแบบ ดังนี้ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล กรุงเทศมหานคร และเมืองพัทยาซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีกฎหมายที่จัดตั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 รูปแบบ จะบัญญัติมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกกฎหมายขึ้นบังคับกับราษฎรในเขตท้องถิ่นของตนได้ ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันออกไปตามชื่อองค์กรที่ตราขึ้น ดังนี้
(1) ข้อบัญญัติจังหวัด เป็นกฎที่ตราขึ้นโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(2) ข้อบัญญัติตำบล เป็น กฎ ที่ตราขึ้นโดยองค์การบริหารส่วนตำบล
(3) เทศบัญญัติ เป็น กฎ ที่ตราขึ้นโดยเทศบาล
(4) ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็น กฎ ที่ตราขึ้นโดยกรุงเทพมหานคร
(5) ข้อบัญญัติเมืองพัทยา เป็น กฎ ตราขึ้นโดยเมืองพัทยา
ข้อสังเกต กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างกับกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรบริหาร คือ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง คือ กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้บังคับเฉพาะท้องถิ่นของตน ไม่ได้บังคับทั่วราชอาณาจักรเหมือนกันพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวง
(6). ที่มาของกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยหน่วยงานที่รับมอบหมายให้ใช้อำนาจปกครอง เช่น องค์กรวิชาชีพต่างๆ เช่น สภาทนายความ ที่มีอำนาจออกและเพิกถอนใบอนุญาตว่าความกับทนายความ เป็นต้น กับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ดังนี้ที่ได้รับมอบหมายให้ชอบอำนาจทางปกครอง เช่น สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการศึกษาในสถาบันแห่งนั้น เป็นต้น
2.1.3.2 กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรที่มิได้สังกัดฝ่ายบริหาร
กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรที่มิได้สังกัดฝ่ายบริหาร มีอยู่หลายองค์กรด้วยกัน คือ คณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรสังกัดรัฐสภา ดังนี้
1.ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยคณะปฏิวัติบางฉบับ ที่มีฐานะบังคับเป็น “กฎ” คือ มีฐานะเป็นกฎหมายระดับกฎหมายลำดับรอง เช่น ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 33 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 มีผลบังคับใช้เป็นระเบียบกระทรวง เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่แก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฏไทย พ.ศ.2536 เป็นต้น
2.ที่มาของกฎหมายระดับกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรศาล (Court) เช่น
1) กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยศาลยุติธรรม (Judicial Court) เช่น ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2550 เป็นต้น
2)กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยศาลปกครอง (Administrative Court) คือ กฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติมอบอำนาจให้ศาลปกครองเป็นผู้ออกกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ ที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ.2542 ได้ออกระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 เป็นต้น
3. ที่มาของกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (Organization Under Constitution) เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11และมาตรา 13 และ มาตราแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 และมาตรา16 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2541 ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตและคณะกรรมการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เป็นต้น
4. ที่มาของกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรสังกัดรัฐสภา เช่น กฎระเบียบที่ออกโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กฎระเบียบที่ออกโดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นต้น
2.2 แหล่งที่มาอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายมหาชนที่ไม่ได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร
แหล่งที่มาอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศไทย พิจารณาแหล่งที่มาอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายได้ 2 ลักษณะ คือ กฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรที่ในประเทศไทยยอมรับกับกฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ที่นักกฎหมายบางคนยอมรับบางคนไม่ยอมรับ คือ คำพิพากษาบรรทัดฐาน ดังนี้
2.2.1 กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ประเทศไทยยอมรับ
แหล่งที่มาอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายมหาชนที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ประเทศไทยยอมรับ มี 2 รูปแบบ ดังนี้
2.2.1.1 กฎหมายประเพณี
แหล่งที่มาอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ กฎหมายประเพณี (Customary Law) ซึ่งแยกอธิบาย ดังนี้
1. ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของกฎหมายประเพณี คือ เริ่มจากหลักศีลธรรมและเมื่อหลักศีลธรรมได้รับการประพฤติปฏิบัติติดต่อกันมานานๆ ก็กลายมาเป็นประเพณีที่สำคัญ ซึ่งสังคมใช้อำนาจส่วนกลางของสังคมเข้าบังคับก็เป็นกฎหมายประเพณี และกฎหมายประเพณีในอดีต ผู้บัญญัติกฎหมายได้นำมาเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นจำนวนมาก
2. ความหมายของกฎหมายประเพณี คือ บรรดากฎเกณฑ์ที่กำหนดแบบแผนความประพฤติของบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่บุคคลในสังคมประพฤติติดต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอซ้ำๆ ซากๆ เป็นเวลาช้านานและบุคคลในสังคมมีความรู้สึกโดยทั่วกันว่ากฎเกณฑ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำต้องปฏิบัติตาม
3. องค์ประกอบของกฎหมายประเพณี
1) องค์ประกอบภายนอก (Old Practices) คือ แนวทางปฏิบัติเก่าแก่ดั้งเดิมที่ได้รับการประพฤติปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยคนในสังคม จึงเกิดความขลังกลายเป็นแนวปฏิบัติที่สังคมยอมรับและปฏิบัติตาม
2) องค์ประกอบภายใน (Opinio Juris) คือ แนวทางปฏิบัติที่บุคคลรู้สึกถูกต้องสอดคล้องกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่อยู่ในจิตใจของตน เพราะฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตาม แล้วจะมีความรู้สึกผิด ขึ้นมาในจิตใจแม้ไม่มีใครเห็นไม่มีพยานหลักฐาน
4. ประเภทของกฎหมายประเพณี มี 3 ประเภท คือ กฎหมายประเพณีทั่วไป กฎหมายประเพณีเฉพาะถิ่นและกฎหมายประเพณีเฉพาะอาชีพ ดังนี้
1) กฎหมายประเพณีทั่วไป คือ เป็นที่รับรู้ของคนทั่วราชอาณาจักร ซึ่งประพฤติปฏิบัติตามเหมือนกันหมด ซึ่งในประเทศไทยยังไม่ปรากฏแน่ชัดมากนัก แต่อาจมีลักษณะที่ใกล้เคียง เช่น ในกรณีนายกรัฐมนตรีรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่กำหนดว่าต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
2) กฎหมายประเพณีเฉพาะถิ่น (Customary Law) คือ เป็นที่รับรู้เฉพาะถิ่น เฉพาะภาค เช่น รวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อเพื่อนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่น ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ที่สามารถออกกฎเกณฑ์กำหนดในท้องถิ่น เช่น กฎเกณฑ์ในการจัดการป่าชุมชน เป็นต้น
3) กฎหมายประเพณีเฉพาะอาชีพ (Profesional Customer Law) หรือ กฎหมายแพ่ง เรียกว่า ปกติประเพณีทางการค้า ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นในวงการอาชีพใดอาชีพหนึ่ง
2.2.1.2 หลักกฎหมายทั่วไป
แหล่งที่มาอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป (General Principle of Law) สามารถอธิบายหลักกฎหมายทั่วไปได้ดังนี้
1. ความหมายของหลักกฎหมายทั่วไป คือ เป็นหลักการใหญ่ๆ ที่เป็นรากฐานที่อยู่เบื้องหลังบรรดากฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นระบบกฎหมายของประเทศ โดยระบบกฎหมายของประเทศประกอบด้วยกฎเกณฑ์มากมาย ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและทั้งที่เป็นจารีตประเพณี เช่น หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม หลักความเสมอภาค หลักความได้สัดส่วน เป็นต้น
2. วิธีการค้นหาหลักกฎหมายทั่วไป มีได้หลายวิธี เช่น
1) วิเคราะห์จากบทบัญญัติในกฎหมายลายลักษณ์อักษรในเรื่องเดียวกัน หรือเรื่องที่ใกล้เคียงกันหลายๆ ฉบับหลายๆ มาตรา โดยใช้กระบวนการให้เหตุผลในทางตรรกวิทยาหรือที่เราเรียกว่าอุปนัย (Induction) สกัดจากกฎเกณฑ์เฉพาะมาเป็นกฎหมายทั่วไป ซึ่งเราเรียกว่า หลักเกณฑ์ทั่วไป
2) การค้นหาจากหลักเกณฑ์ที่อาจจะเป็นสุภาษิตกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายของต่างประเทศมาเทียบเคียงในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาบังคับใช้
3) ค้นหาจากมโนธรรมภายในใจของผู้พิจารณาคดี คือ พิจารณาจากมโนธรรมภายในจิตใจของผู้พิพากษาว่าอะไรเป็นธรรมอะไรไม่เป็นธรรม ซึ่งจะมีอยู่ในจิตใจมนุษย์ทุก ๆ คนเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันโดยวิธีนี้จะใช้เมื่อการค้นหาวิธีแรกหรือวิธีที่สองไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่มีกฎหมายประเพณี
2.2.2 กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ประเทศไทยยังมีข้อโต้แย้ง
ที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ประเทศไทยยังมีข้อโต้แย้ง กันอยู่ คือ คำพิพากษาของศาลที่เป็นบรรทัดฐานและความเห็นนักวิชาการ ดังนี้
2.2.2.1 คำพิพากษาของศาลบรรทัดฐาน
“คำพิพากษาของศาล” หมายถึง คำพิพากษาที่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี และเมื่อพิพากษาเสร็จเป็นอันจบ ส่วนคำพิพากษาของศาลบรรทัดฐาน หมายถึง คำพิพากษาบางฉบับที่มีเหตุผลดี เป็นที่ยอมรับทั้งของคู่ความในคดีและสาธารณชนทั่วไป ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวอาจจะเป็นตัวอธิบายตัวบทกฎหมายที่อ่านเข้าใจยากหรือแปลได้หลายนัย เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนในวงการกฎหมาย รวมทั้งผู้พิพากษา ดังนั้นในคดีหลัง ๆ ผู้พิพากษาจึงพิพากษาคดีอย่างเดียวกันให้เป็นไปตามคำพิพากษาฉบับก่อนซึ่งมีเหตุผลดี คำพิพากษาฉบับก่อนก็จะเป็นคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานมีคำพิพากษาหลัง ๆ เดินตามอีกมากมาย
เมื่อพิจารณาศึกษาถึงคำพิพากษาฎีกาบรรทัดฐานเป็นบ่อเกิดของกฎหมายมหาชนหรือไม่ มีความเห็นเป็น 2 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาบรรทัดฐานไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมาย เพราะเมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้ถือคำพิพากษาเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่เป็นเพียงความสมัครใจ และเห็นด้วยกับคำพิพากษา จึงตัดสินตามคำพิพากษานั้น ๆ และศาลก็ไม่มีความผูกพันที่จะต้องนำคำพิพากษามาพิพากษากับกรณีที่มีความผูกพันที่จะต้องนำพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกามาพิพากษาคดีในลักษณะที่จะปฏิเสธไม่บังคับใช้พิพากษาไม่ได้
แนวทางที่ 2 เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาบรรทัดฐานเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย เพราะการที่มีบุคคลอ้างอิงและปฏิบัติตามด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงถือได้ว่าเป็นแนวปฏิบัติเก่าแก่ที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนเป็นกฎหมายประเพณี
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาศึกษาถึงคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลปกครองในประเทศฝรั่งเศสที่ใช้ระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) (ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบของศาลปกครองที่มีใช้อยู่ทั่วโลก) ถือว่าคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เป็นแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายปกครอง ซึ่งประเทศไทยได้เดินตามแนวคิดในการสร้างหลักกฎหมายปกครองของประเทศฝรั่งเศส ดังเห็นได้จากการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ในเรื่องของ สัญญาทางปกครอง ที่ตีความขยายสัญญาทางปกครอง คือ “สัญญาทางปกครอง” หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือถ้าไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองก็ต้องเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ แต่มาทำสัญญาแทนในนามรัฐ ซึ่งต้องเป็นสัญญาสัมปทานหรือสัญญาที่คู่สัญญาทำบริการสาธารณะหรือสัญญาที่จัดให้คู่สัญญาจัดทำสิ่งสาธารณูปโภคหรือสัญญาที่คู่สัญญาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือสัญญานั้นจะต้องแสดงถึงเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครอง
2.2.2.2 ทฤษฎีกฎหมายและความเห็นของนักวิชาการ
ทฤษฎีกฎหมายและความเห็นในทางวิชาการ ก็อาจเป็นที่มาของกฎหมายได้ เนื่องจากทฤษฎีกฎหมายและความเห็นทางวิชาการเกิดจากการที่นักวิชาการพยายามสร้างและอธิบายประเด็นปัญหาต่างๆในทางกฎหมายปกครอง เกิดการผลึกทางความคิดทางกฎหมายปกครอง ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัตินำหลักทฤษฎีและความเห็นในทางวิชาการไปแก้หรือสร้างหลักกฎหมาย หรือบางครั้งผู้พิพากษาก็นำหลักทฤษฎีและความเห็นทางวิชาการนำไปตีความกฎหมาย แล้วพัฒนามาเป็นหลักกฎหมาย
3 ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย (Hierarchy of Law)
เมื่อเราทราบถึงที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายแล้ว เราพบว่ากฎหมายนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีศักดิ์ของกฎหมายนั้นแตกต่างกัน บางตำราเรียกลำดับศักดิ์ของกฎหมายว่า “ลำดับชั้นของกฎหมาย” หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของกฎหมายแต่ละฉบับนั้น พิจารณาได้จากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมายต่างกัน เช่น รัฐธรรมนูญออกโดยองค์กรผู้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติก็ออกโดยรัฐสภา เช่นกัน ในขณะเดียวกันกฎหมายเหล่านี้ก็อาจมอบให้องค์กรอื่นออกกฎหมายได้เช่นเดียวกัน เช่น พระราชบัญญัติมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายในรูปของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงเพื่อความเหมาะสมบางประการ หรือ พระราชบัญญัติบางฉบับก็ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดออกกฎหมายเพื่อใช้ในเขตพื้นที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดรับผิดชอบ เป็นต้น
โดยปกติกฎหมายไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะมีกฎหมายจารีตประเพณีอยู่บ้างแต่ก็น้อยมาก ในบรรดากฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งหลาย ย่อมมีระดับชั้นต่างกัน ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทในการวางระเบียบบริหารประเทศย่อมมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
2. รองลงมาเป็นกฎหมายที่ออกและเห็นชอบของรัฐสภา เรียกว่า “กฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ” ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประกาศคณะปฏิวัติที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติ
3. กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหารและองค์กรฝ่ายปกครองที่อยู่ภายฝ่าบริหาร เช่น กฎหมายลำดับรองออกโดยรัฐวิสาหกิจ ออกโดยองค์การมหาชน ออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกโดยองค์กรวิชาชีพ กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์ฝ่ายปกครองที่มิได้อยู่ใต้สังกัดฝ่ายบริหาร เช่น กฎหมายลำดับรองออกโดยศาล ออกโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ออกโดยหน่วยงานสังกัดรัฐสภา
บรรณานุกรม
โกเมศ ขวัญเมืองและสิทธิกร ศักดิ์แสง “การศึกษาแนวใหม่ : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย
ทั่วไป” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน,2549
จิรศักดิ์ รอดจันทร์ “กฎหมายภาษี : วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียตามระบบกฎหมายของไทย
และระบบกฎหมายของประเทศอังกฤษ” จุลสารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ภาค 2/ 2549
จุลกิจ รัตนมาศทิพย์ “ฎีกามหาชน : วาทกรรมว่าด้วยสังคม,กฎหมายและความยุติธรรมใน
ประเทศไทย เล่ม 4 ภาค 3 นิติวิธี” กรุงเทพฯ: บริษัทโรงพิมพ์ล้านคำ จำกัด,2553
เดโช สวนานนท์ “พจนานุกรมศัพท์การเมือง :คู่มือการมีส่วนร่วมของพลเมืองในระบอบ
ประชาธิปไตย” กรุงเทพฯ : บริษัทหน้าต่างสู่โลกกว้าง,2545
นรนิตติ เศรษฐบุตร บรรณาธาร “สารนุกรมการเมืองไทย” กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภา
ผู้แทนราษฎร, 2547
ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพาณิชย์ “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547
ปรีดี เกษมทรัพย์ “นิติปรัชญา” พระนคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่
2,2531
พรเลิศ สุทธิรักษ์และสิทธิกร ศักดิ์แสง “การมีส่วนรวมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน :
กรณีศึกษาเปรียบเทียบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540กับ2550” รายงาวิจัยเสนอต่อมหาวิทยาลัยตาปี 2552
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช “เอกสารการสอนชุด วิชา กฎหมายมหาชน” หน่วยที่ 1-7
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช : นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 10,2531
มูลนิธิวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครอง “ข้อพิจารณาเกี่ยว กฎ” กรุงเทพฯ : มูลนิธิ
วิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครอง, 2551
วิษณุ เครืองาม “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2530
วิษณุ วรัญญู,ปิยะศาสตร์ ไขว้พันธุ์, เจตน์ สภาวรศีลพร “ตำรากฎหมายปกครองว่าด้วยกฎหมาย
ปกครองทั่วไป” กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา,2551
สมยศ เชื้อไทย “คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่งทั่วไปหลักทั่วไป : ความรู้กฎหมายทั่วไป” กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์วิญญูชน พิมพ์ครั้งที่ 8,2545
สิทธิกร ศักดิ์แสง “ศาลเป็นผู้สร้างหลักกฎหมายได้หรือไม่ในระบบกฎหมายของไทย” วารสารข่าว
กฎหมายใหม่ ปีที่ 5 ฉบับที่ 83 พฤษภาคม 2550
สิทธิกร ศักดิ์แสง “ปัญหาผู้ตีความตามรัฐธรรมนูญ กรณีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” วารสารกฎหมายใหม่ วารสารกฎหมายรายเดือน ปีที่ 4 ฉบับที่ 73 กรกฎาคม 2549
อุทัย ศุภนิตย์ “ประมวลศัพท์ในกฎหมายไทยในอดีตและปัจจุบัน เรียงตามตัวอักษร” พระนคร :
สำนักพิมพ์ประกายพรึก,2525
ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ 在 sittikorn saksang Facebook 的最讚貼文
สิทธิเสรีภาพของประชาชนและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและยังได้กำหนดหน้าที่ของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสังคมใดที่ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนสังคมนั้นต้องกำหนดหน้าที่ของประชาชนไว้ด้วย ดังนั้นในบทนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงหลักการแนวคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของประชาชนที่ปรากฏอยู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นหลัก ดังนี้
1.สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
สิทธิเสรีภาพของประชาชน (Rights and Liberties of People) จะกล่าวถึง ความหมายของสิทธิเสรีภาพ การรับรองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในกรณีจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพ การละเมิดกฎเกณฑ์ที่คุ้มครองหรือจำกัดเสรีภาพ ดังนี้
1.1 ความหมายของสิทธิเสรีภาพ
ก่อนที่จะทราบถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เราจำเป็นต้องทราบถึงความหมายของสิทธิและความหมายของเสรีภาพ ดังนี้
1.1.1 สิทธิ
สิทธิ (Right) หมายถึง อำนาจตามกฎหมายที่บุคคลได้รับรองและคุ้มครองให้ กฎหมายในที่นี้เป็นกฎหมายที่มีฐานะสูงสุด คือ “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) เมื่อกล่าวถึงสิทธิในรัฐธรรมนูญ จึงหมายถึง สิทธิในทางมหาชน (Public Rights) ซึ่งมีหลักเกณฑ์คลุมถึงสิทธิในทางเอกชน (Private Rights) ด้วย
1.1.2 เสรีภาพ
เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้อื่น อยู่ในภาวะที่ปราศจากการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือขัดขวาง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เสรีภาพ คือ อำนาจของบุคคลในอันที่จะกำหนดตนเอง (Self-determination) โดยอำนาจนี้บุคคลย่อมเลือกวิถีชีวิตของตนเองได้ด้วยตนเองจึงเป็นอำนาจที่บุคคลมีอยู่เหนือตนเอง เสรีภาพจึงมีความหมายต่างกับสิทธิ อย่างไรก็ตามถ้าเสรีภาพใดมีกฎหมายรับรองและคุ้มครอง เสรีภาพนั้นก็อาจเป็นสิทธิด้วย จึงมีผู้เรียกรวมๆกันไปว่า “สิทธิเสรีภาพ”
การดำเนินงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพ หรือทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นหน้าที่ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งหลายให้ใช้บังคับการกระทำของรัฐ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้เมื่อการละเมิดกฎเกณฑ์เหล่านั้น ก็ต้องมีวิธีการให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องรับผิดชอบไว้ดังนี้
1.2 การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
รัฐเสรีประชาธิปไตย ถือว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนในสังคมเป็นหัวใจของการเมืองการปกครอง จึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งรัฐเสรีประชาธิปไตยเกือบทุกรัฐจะบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกได้ 5 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1.2.1 ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตร่างกาย
ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตร่างกาย คือ เสรีภาพที่มนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธได้ เป็นเสรีภาพที่ทุกคนต้องการ เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องการและจัดเป็นเหตุสำคัญที่สุดที่นักปรัชญากฎหมายเห็นกันว่าเป็นเหตุให้มนุษย์รวมตัวกันเป็นสังคม ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวถือว่าเป็นความสำคัญมากกว่าสิทธิเสรีภาพอื่นๆ เพราะถือว่าสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นพื้นฐานของเสรีภาพอื่นๆ
1.2.2 เสรีภาพในชีวิตส่วนตัว
รัฐตระหนักถึงว่ามีเสรีภาพของบุคคลบางอันมีขอบเขตที่มีความเป็นอิสระและปฏิเสธการที่บุคคลอื่นเข้ามารุกรานเสรีภาพ เสรีภาพดังกล่าวก็คือ เสรีภาพในชีวิตส่วนตัวซึ่งได้แก่ เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพในความลับส่วนบุคคล เสรีภาพในข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
1.2.3 เสรีภาพในตัวบุคคล
เสรีภาพในตัวบุคคล เป็นเสรีภาพที่บุคคลสามารถกระทำอะไรกับร่างกายของตนก็ได้ บุคคลอื่นจะก้าวล่วงเข้ามาขัดขวางการเคลื่อนไหวทางกายภาพของเขาไม่ได้ เช่น เสรีภาพในการเดินทาง บุคคลอื่นจะเข้ามาก้าวล่วงในร่างกายของเขาโดยปราศจากการยินยอมไม่ได้ เช่น การผ่าตัดคนไข้ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ เป็นต้น
สิทธิเสรีภาพในตัวบุคคล เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะเคารพในเนื้อตัวร่างกายของตนที่จะสามารถกระทำอะไรกับเนื้อตัวของตนเองภายใต้กรอบของกฎหมาย เช่น การเร่ขายบริการทางเพศ จะเห็นได้ว่าบุคคลที่กระทำดังกล่าวใช้เสรีภาพในตัวบุคคลและอ้างว่าสามารถทำได้ แต่ในกรณีนี้จะอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิทธิเสรีภาพในตัวบุคคลไม่ได้ เนื่องจากเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายการค้าประเวณี เป็นต้น
1.2.4 เสรีภาพทางปัญญาและศีลธรรม
สมองของมนุษย์เป็นผลผลิตทางธรรมชาติที่เป็นอวัยวะที่สำคัญเหนือการคาดเดาได้ว่า มนุษย์จะใช้สมองคิดไปในทางใด คิดอย่างไร มนุษย์สามารถแสดงออกสิ่งที่ตนเองคิด สิ่งที่ตนเองเชื่อและแสดงออกซึ่งสิ่งที่ตนเองคิดได้ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในทางความเชื่อ เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในทางวิชาการ เสรีภาพในการรวมตัวเป็นกลุ่มบุคคลเป็นต้น
ปัจจุบันเสรีภาพทางปัญญาและศีลธรรมอาจจะแสดงออกมาในทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าสื่อทางด้านละคร เสรีภาพของวิทยุโทรทัศน์ เป็นการแสดงออกถึงการกกระจายทางความคิด รวมถึงผู้สอนหนังสือซึ่งเป็นเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการประชุม เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการประท้วง เสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นต้น ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นกฎหมายรับรองโดยที่ไม่มีอะไรเข้ามาแทรกแซงได้เลย มีอิสระ มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ลัทธิ นิกายใดก็ได้ กฎหมายไม่สามารถก้าวล่วงได้ในด้านทางความคิด
1.2.5 เสรีภาพทางเศรษฐกิจ
เสรีภาพทางเศรษฐกิจนั้นส่วนใหญ่จะมีลักษณะพิเศษเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในทางเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพดั้งเดิม คือ เสรีภาพตามแนวคิดปัจเจกชนนิยม เสรีภาพประเภทนี้ เช่น เสรีภาพในกรรมสิทธิ์ เสรีภาพในการทำงาน เสรีภาพในอุตสาหกรรมและพาณิชกรรม เสรีภาพในการเป็นสหภาพ เสรีภาพในการนัดหยุดงาน เป็นต้น
1.3 กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในกรณีจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญรัฐเสรีประชาธิปไตยทุกรัฐให้การตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเท่าที่จำเป็นและจะกระทบสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของบุคคลไม่ได้ การที่ทุกคนที่มีสิทธิเสรีภาพนั้นถ้าไม่มีขอบเขตจำกัด ทุกคนจะใช้สิทธิเสรีภาพนั้นเกินเลยทำให้เกิดปัญหาในทางสังคมได้ รัฐจึงจำเป็นต้องมาแทรกแซงเข้ามาจัดการคุ้มครองไม่ให้ผู้อื่นมาละเมิดสิทธิเสรีภาพของเรา ซึ่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นจำเป็นต้องกระทำอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้
1.3.1 การจำกัดเสรีภาพเพื่อคุ้มครองเสรีภาพผู้อื่นและคุ้มครองสังคม
การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล รัฐต้องตรากฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพและกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นมาจากองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนด้วยตามครรลองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งก็ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) แต่อย่างไรก็ตามการจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อคุ้มครองสังคมและคุ้มครองเสรีภาพผู้อื่นนั้น คงเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่คงเหลือสิทธิเสรีภาพอะไรเลยให้แก่ประชาชน
1.3.2 การคุ้มครองเสรีภาพจากการละเมิดของรัฐ
ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยรัฐจะตรากฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้นั้น รัฐเองก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองประชาชนด้วย การคุ้มครองเสรีภาพจากการละเมิดของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ มีอยู่ 3 ระดับด้วยกันดังนี้
1. สิทธิเสรีภาพบางประเภทนั้นรัฐไม่สามารถตรากฎหมายออกมาจำกัดได้เลย เสรีภาพประเภทนี้เป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อย่างสมบูรณ์ เช่น สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นต้น
2. การจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นต้องตราเป็นกฎหมายที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ซึ่งแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งถือว่าเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนเท่านั้นที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ดังนั้นหากรัฐต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องใด รัฐต้องตรากฎหมายออกมาในรูปของพระราชบัญญัติ มิเช่นนั้นรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่สามารถกระทำการได้ เว้นแต่ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ ความมั่นคงของรัฐหรือ ในกรณีที่เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ถ้ามีความจำเป็นรีบด่วนและลับ ฝ่ายบริหารนั้นสามารถตราพระราชกำหนดมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นได้ แต่เมื่อเข้าสู่สมัยประชุมสภานิติบัญญัติต้องนำพระราชกำหนดนั้นให้สภาอนุมัติ
3. ถ้ามีการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐต้องจัดให้มีองค์กรทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนที่ถูกละเมิด เช่น ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากนี้ฝ่ายนิติบัญญัติตรากฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐต้องมีองค์กรชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว เช่น องค์กรทางการเมือง ศาลยุติธรรมหรือศาลพิเศษคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
1.3.3 การคุ้มครองเสรีภาพจากการละเมิดของบุคคลอื่น
การกระทำหน้าที่ดังกล่าวของรัฐเป็นไปเพื่อการปกป้องคุ้มครองคนทุกคนในสังคม ให้มีความสงบสุขและต้องการมีการกำหนดโทษไว้ ถ้ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพเกิดขึ้นทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครองและทางรัฐธรรมนูญ การละเมิดกฎเกณฑ์ที่คุ้มครองหรือจำกัดเสรีภาพจะต้องมีองค์กรชี้ขาดที่เป็นอิสระและทำให้การละเมิดนั้นหมดไป ในประเทศที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่า การที่จะทำให้เสรีภาพได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ จะต้องมีปัจจัย อีก 2 ประการ คือ
1.3.3.1 มีองค์กรอิสระในการตัดสินชี้ขาดการละเมิด
ในประเทศที่ใช้หลักการปกครองแบบนิติรัฐ (Legal State) ที่ยึดหลักนิติธรรม (The Rule of Law) นั้นถือว่าต้องให้ศาลซึ่งเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลพิเศษ (เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ) ในระบบกฎหมายมหาชนเป็นผู้ชี้ขาดในการคุ้มครองเสรีภาพของปัจเจกบุคคล รวมไปถึงการใช้อำนาจเฉพาะขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจในการตัดสินชี้ขาดการละเมิดนั้นเป็นเรื่องเฉพาะ
1.3.3.2 มีมาตรการให้การละเมิดนั้นหมดไป
การมีมาตรการให้การละเมิดนั้นหมดไปอาจมีการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย ศาลจึงมีความเป็นอิสระมีอำนาจในการทำให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้นยุติลง และต้องจ่ายค่าเสียหายให้ปัจเจกชนที่เสียหายด้วย ซึ่งเป็นการเยียวยาให้กับผู้เสียหายที่ถูกละเมิด
2.สิทธิ เสรีภาพแลพหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไทย
เมื่อรัฐให้สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองแก่ประชาชนแล้ว รัฐและประชาชนก็ต้องมีพันธะหรือหน้าที่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ กล่าวคือ หน้าที่ (Duty) คือ พันธะหรือความผูกพันที่ทำให้บุคคลอยู่ในสถานะที่ต้องกระทำการ งดเว้นกระทำการบางอย่าง เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิของบุคคลอื่น ดังนั้นหน้าที่ตามกฎหมาย คือ พันธะหน้าที่หรือความผูกพันที่ทำให้บุคคลอยู่ในฐานะที่ต้องกระทำ งดเว้นกระทำการบางอย่างเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิของบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ไว้ดังนี้
2.1 สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไทย
หลังจากประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญและได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฉบับต่อมาถึงฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ดังนี้
2.1.1 ส่วนที่ 1 บทนำทั่วไป
ส่วนที่ 1 บทนำทั่วไป กล่าวถึงการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิเสรีถาพของประชาชนย่อมผูกพันทุกองค์กร บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฝกิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัดต่ศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้
2.1.2 ส่วนที่ 2 ความเสมอภาค
ส่วนที่ 2 ความเสมอภาค กล่าวถึง บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเป็นชายหรือหญิง บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไป
2.1.3 ส่วนที่ 3 สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
ส่วนที่ 3 สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล กล่าวถึง บุคคลย่อมมีสิทธิ เสรีภาพในชีวิตร่างกาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัยภายในราชอาณาจักร สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงตลอดจนความเป็นส่วนตัว บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางชอบด้วยกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา การเกณฑ์แรงงานจะกระทำมิได้ เว้นตามอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
2.1.4 ส่วนที่ 4 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่ 4 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึง บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลที่กระทำความผิดมิได้ บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
2.1.5 ส่วนที่ 5 สิทธิในทรัพย์สิน
ส่วนที่ 5 สิทธิในทรัพย์สิน กล่าวถึง สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
2.1.6 ส่วนที่ 6 สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
ส่วนที่ 6 สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ กล่าวถึง บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน
2.1.7 ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน
ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน กล่าวถึง บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด เขียนพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่ไม่ละเมิดบุคคลอื่น พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการในหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือโทรคมนาคมมิได้
2.1.8 ส่วนที่ 8 สิทธิเสรีภาพในการศึกษา
ส่วนที่ 8 สิทิในการศึกษา กล่าวถึง บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
2.1.9 ส่วนที่ 9 สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ
ส่วนที่ 9 สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ กล่าวถึง บุคคลย่อมมีสิทธิกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้รับมาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เด็กและเยาวชนมีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญยา ตามศักยภาพแวดล้อมที่เหมาะสม บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรีและความช่วยเหลือที่เหมาะจากรัฐ บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรีและความช่วยเหลือที่เหมาะจากรัฐ บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะจากรัฐ
2.1.10 ส่วนที่ 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน
ส่วนที่ 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน กล่าวถึง บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วบราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันรวดเร็ว บุคคลย่อมมีสิทธิที่ฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรของรัฐที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการรับได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2.1.11 ส่วนที่ 11 เสรีภาพในการชุมนุม
ส่วนที่ 11 เสรีภาพในการชุมนุม กล่าวถึง บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป้นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชนหรือหมู่คณะ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
2.1.12 ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน
ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน กล่าวถึง บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน สิทธิบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากระรรมชาติและหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิทธิชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล
2.1.13 ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กล่าวถึง บุคคลจะใช้สิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นไปเพิ่ให้ได้มาวึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
2.2 หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ นี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติหน้าที่ออกได้ 2 ส่วน คือ หน้าที่ของรัฐกับหน้าที่ของประชาชน ดังนี้
2.2.1 หน้าที่ของรัฐ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐ (Duties of State) ไว้ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐเพื่อกำหนดเจตจำนงบังคับให้รัฐบาลปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอย่างจริงจัง เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งอาจแยกได้ 2 หน้าที่คือ หน้าที่หลักของรัฐกับหน้าที่รองของรัฐ
2.2.1.1 หน้าที่หลักของรัฐ
หน้าที่หลักของรัฐหรืออาจเรียกว่า “ภารกิจขั้นพื้นฐานของรัฐ” (Basic function of State) คือ มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนภายในรัฐ รัฐต้องมีความมั่นคงและมีความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ ได้แก่
1. หน้าที่หลักของรัฐที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขตรัฐหรือรัฐบาล มีหน้าที่ปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์รักษา เอกราชอธิปไตยของชาติ รวมทั้งรักษาแผ่นดิน ผืนน้ำ มิให้ต้องสูญสลายหรือตกไปเป็นของประเทศอื่น
2. หน้าที่หลักของรัฐที่ต้องมีกำลังทหารมีกองทัพ รัฐมีหน้าที่มีกำลังทหารและมีกองทัพโดยมีภารกิจหลักเพื่อความมั่นคงของรัฐ ดังต่อไปนี้
1) พิทักษ์รักษาเอกราชของชาติมิให้ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร
2) พิทักษ์รักษาความมั่นคงของรัฐ
3) พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์
4) พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติมิให้เสียหายหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ
5) พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองและสร้างความผาสุกอยู่ดีกินดีแก่ประชาชน
3.หน้าที่หลักของรัฐที่ต้องดำเนินการเพื่อความยุติธรรม รัฐจะต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมและแก่ประชาชนไว้สองส่วนด้วยกันดังนี้
ส่วนแรก แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล รัฐต้องจัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกับรัฐต้องจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสนองความต้องการของประชาชน
ส่วนที่สอง กำหนดให้รัฐ(รัฐบาล) จัดสรรงบประมาณให้พอเพียงกับการบริหารงานโดยอิสระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง เป็นต้น
2.2.1.2 หน้าที่รองของรัฐ
นอกจากรัฐมีหน้าที่หลักแล้วรัฐมีหน้าที่รองลงมาหรือาจเรียกว่า “ภารกิจลำดับรองของรัฐ” (Secondary function of State) คือ มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งได้แก่
1.หน้าที่รองของรัฐที่เกี่ยวกับศาสนาและหลักธรรม หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและหลักธรรมศาสนาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มี 3 ประการ คือ
1)รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
2)รัฐต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา
3)รัฐต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมอันดีและความชอบธรรมมาใช้เพื่อส่งเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
2.หน้าที่รองของรัฐที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านต่างๆโดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน ดังนี้
1) รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
2) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ
3) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพหรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลายหรือรูปแบบอื่น
4) รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมืองและจัดให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่
5) รัฐต้องส่งเสริมและให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
3. หน้าที่รองของรัฐที่จะต้องบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
1) รัฐต้องกำหนดขอบเขตและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจหน้าที่ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน สนับสนุนให้จังหวัดทำแผนพัฒนาโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม สนับสนุนงบประมาณให้จังหวัดมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของประชาชน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนและให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
2) รัฐต้องให้ความสำคัญแก่การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่นโดยเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนาทุกด้าน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภคสาธารณูปการ สารสนเทศ
3) รัฐต้องพัฒนาองค์กรและบุคลากรของภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ให้มีความสามารถคู่คุณธรรมและจริยธรรม พัฒนาวิธีปฏิบัติราชการโดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือธรรมาภิบาล (Good Governance)
4) รัฐต้องจัดระบบงานเพื่อบริการสาธารณะให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามหลักการสำคัญในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance)
5) รัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานอิสระ เพื่อให้ความเห็นและตรวจสอบการตรากฎหมายของฝ่ายบริหารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากการแทรกแซงหรืออิทธิพลใดๆจากรัฐบาล ทั้งนี้เป็นไปตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law)
6) รัฐต้องจัดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม เช่น การรักษาพยาบาล บำเหน็จ บำนาญ เป็นต้น
4.หน้าที่รองของรัฐที่ต้องปฏิบัติในการใช้ที่ดินและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1) รัฐต้องปฏิรูประบบและนโยบายการใช้ที่ดินทั้งระบบโดยกำหนดเกณฑ์และมาตรฐานการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย
2) รัฐต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรอย่างเหมาะสมเพียงพอ
3) รัฐต้องจัดการวางผังเมือง เพื่อประโยชน์ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
4) รัฐต้องจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม โดยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วมในการสงวน การบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์ตามความหลากหลายทางชีวภาพ
5) การควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงสภาวะโลกร้อน รวมถึงการปลูกป่าทดแทน เป็นต้น โดยให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
5.หน้าที่รองของรัฐที่ต้องพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ในการพัฒนาสังคม การสาธารณะสุขและวัฒนธรรมของชาติ ดังต่อไปนี้
1) รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนให้ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเต็มที่ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา การอบรมเลี้ยงดูและการศึกษาปฐมวัย เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัวและความเสมอภาคหญิงชาย ตลอดจนจัดการสงเคราะห์และจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเอง โดยส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในภารกิจดังกล่าว
2) รัฐต้องพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและจัดบริการสาธารณสุข ทั้งนี้บุคลากรที่ให้บริการด้านสาธารณสุขต้องมีมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม
3) รัฐต้องส่งเสริมความสามัคคีของคนในชาติ ให้ตระหนักในความสำคัญและพึงหวงแหนศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ค่านิยมอันดีงามของชาติและภูมิปัญญาของท้องถิ่น
6.หน้าที่รองของรัฐที่ต้องจัดการศึกษาของชาติอย่างเป็นระบบ รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องจัดการศึกษาของชาติอย่างเป็นระบบ เป็นเอกภาพและมีคุณภาพ เพื่อให้การพัฒนาบุคคลของชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้
1) รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม
2) รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้การจัดการศึกษาแห่งชาติดำเนินไปอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาการศึกษา รวมทั้งพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเน้นการเสริมสร้างคุณภาพของผู้เรียน
3) รัฐต้องปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
4) รัฐต้องสร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
5) รัฐต้องสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปะวิทยาการต่างๆเพื่อความก้าวหน้าของประเทศและก้าวทันความเจริญก้าวหน้าของโลก
6) รัฐต้องพัฒนาวิชาชีพครู เพื่อให้วิชาชีพครูเป็นหลักของชาติในด้านการศึกษาของชาติ
7) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์การทางศาสนาและเอกชนซึ่งมีความพร้อม ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตั้งแต่ก่อนและในระดับปฐมวัยให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเท่าเทียมกัน
7. หน้าที่รองของรัฐที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกร รัฐมีหน้าที่ทีจะต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้
1) รัฐต้องจัดระบบการถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม
2) รัฐต้องจัดหาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง
3) รัฐต้องรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรกรให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด
4) รัฐต้องส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อวางแผนการเกษตรและรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกร
5) รัฐต้องส่งเสริมการแปรรูปผลผลผลิตทางการเกษตรทุกประเภท ทั้งการแปรรูปสินเกษตรขั้นต้นนำไปสู่การแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป เพื่อเพิ่มโอกาสและทางเลือกแก่เกษตรกร ซึ่งทำให้เกิดมูลค่าในทางเศรษฐกิจ
8.หน้าที่รองของรัฐที่ต้องดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจแยกได้ 2 แนวทางควบคู่กันไปคือ หน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้
1) หน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ รัฐต้องส่งเสริมและให้สนับสนุนให้ประชาชนและทุกภาคส่วนในส่วนในสังคมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและกิจการอย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมทั้งเผยแพร่และพัฒนาองค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างกว้างขวาง
2) รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้
(1) รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐต้องไม่แทรกแซงและควบคุมกลไกตลาด หรือ ประกอบกิจการที่มีลักษณะแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง หรือผลประโยชน์ส่วนรวมหรือกิจการที่มีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค
(2) รัฐต้องคุ้มครองการประกอบกิจการให้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภค
(3) รัฐต้องส่งเสริมการประกอบอาชีพและสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า บริการและการประกอบอาชีพ ตลอดจนกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
(4) รัฐต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำหลักคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลมาใช้ในการประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เอารัดเอาเปรียบกันในเชิงธุรกิจ
(5) รัฐต้องควบคุมให้มีวินัยการเงินการคลังอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณไม่เหมาะสมอันนำไปสู่ปัญหาคอรัปชั่น รวมทั้งต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากร อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานจัดเก็บภาษีอากร การขยายฐานภาษีอากร การเพิ่มการจัดเก็บภาษีอากรประเภทใหม่ เช่น ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม
(6) รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการออมในรูปแบบต่างๆเพื่อการดำรงชีพในยามชรา รองรับโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและอายุขัยยืนยาวขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาสังคมที่รัฐต้องรับภาระดูแล หากไม่เร่งดำเนินการให้เกิดการออมเพื่อเป็นหลักประกันในยามชราภาพครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึง
(7) รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคี การประกันสังคม สิทธิประโยชน์ สวัสดิการที่เป็นธรรม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
(8) รัฐต้องส่งเสริมและคุ้มครองระบบสหกรณ์ให้เป็นอิสระ รวมทั้งการรวมกลุ่มการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพด้านต่างๆของประชาชน
9. ที่รัฐต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญาและพลังงาน มีดังนี้
1) รัฐต้องส่งเสริมพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้มีการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆเพื่อนำผลการศึกษาค้นคว้าไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยต้องจัดให้มีกฎหมายและสถาบันการศึกษาและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
2) รัฐต้องส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ รักษาพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย รวมทั้งคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
3) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ
2.2.2 หน้าที่ของประชาชนชาวไทย
หน้าที่ของประชาชนชาวไทย (Duties of Thai People) คือ ประชาชนชาวไทยทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้สังคมอยู่รอดปลอดภัยและสงบสุข ซึ่งสามารถสรุปหน้าที่ของปวงชนที่ต้องปฏิบัติ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
2.2.2.1 หน้าที่ที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
หน้าที่ของประชาชนที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทั้งกายและใจ ได้แก่ หน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2.2.2.2 หน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
ประเทศไทยปกครองประเทศโดยใช้หลักการปกครองแบบนิติรัฐที่ยึดหลักนิติธรรมหรือปกครองรัฐโดยกฎหมาย ดังนั้น คนไทยทุกคนต้องเคารพปฏิบัติตามกฎหมาย หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายมหาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหมายพื้นฐานการปกครองของรัฐได้กำหนดหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายมหาชนได้แก่
1. หน้าที่ของประชาชนที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปต้องมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเรื่องจำเป็นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถ้าผู้ฝ่าฝืนเสียสิทธิบางอย่าง ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดว่าถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นจะเสียสิทธิต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2550
2. หน้าที่ของประชาชนในการป้องกันประเทศ ในยามที่ประเทศไทยมีภัยก็เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนไม่ว่าชาย หญิงก็ต้องในการป้องกันประเทศ
3. หน้าที่ของประชาชนในการรับราชการทหาร ในยามปกติไทยชายไทยมีอายุ 20 ปี ขึ้นไปต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่ผู้หญิงไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
4. หน้าที่ของประชาชนในการเสียภาษี ประชาชนคนไทยทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีอากรทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นต้น
5. หน้าที่ของประชาชนในการช่วยเหลือราชการ ประชาชนคนไทยทุกคนมีหน้าที่ช่วยเหลือทางราชการ คือ พฤติตนเป็นพลเมืองดี คอยช่วยเหลือร่วมมือในการพัฒนาบ้านเมือง เป็นต้น
6. หน้าที่ของประชาชนเข้ารับการศึกษา เป็นหน้าที่ที่ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายกำหนดการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 9 ปี เยาวชนทุกคนเมื่อถึงวัยเรียนตามเกณฑ์ก็ต้องเข้ารับการศึกษาอบรมในโรงเรียนของรัฐหรือเอกชนก็ได้
7. หน้าที่ของประชาชนในการพิทักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ต้องช่วยกันปกป้องศิลปวัฒนธรรมธรรมของชาติไม่ให้ใครทำลาย เป็นต้น
8. หน้าที่ของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกคนต้องมีหน้าที่ปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ใครทำลาย เพราะเป็นสมบัติของชาติ เป็นต้น
หนังสือและเอกสารอ่านประกอบเพิ่มเติม
โกเมศ ขวัญเมืองและสิทธิกร ศักดิ์แสง “การศึกษาแนวใหม่ : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย
ทั่วไป” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2549
คณิน บุญสุวรรณ “คู่มือการใช้สิทธิของประชาชน” กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สุขภาพใจ,2547
สมยศ เชื้อไทย “หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น”กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิญญูชน,2536
ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ 在 ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย : นักข่าวพลเมือง C-Site (21 ต.ค. 62) - YouTube 的推薦與評價
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไทย : นักข่าวพลเมือง C-Site (21 ต.ค. 62) ... ข้าวหมาก จาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น | กินอยู่ คือ [CC]. Thai PBS•56K views. ... <看更多>