แบน 3 สารส่อเลื่อน หลังผลประชาพิจารณ์75%ไม่เห็นด้วย ทำ"เกษตร"เตรียมเสนอเลื่อนบังคับใช้6เดือน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยว่าในวันที่ 27 พ.ย.นี้ จะประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งคงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และทำความเข้าใจ ว่าเมื่อมีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้วจะมีสารตัวใดที่จะมาทดแทน สารใดบ้าง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกร
นอกจากนี้ นายสุริยะ ได้ให้สัมภาษณ์รายการ“เจาะลึกทั่วไปอินไซด์ ไทยแลนด์” โดยระบุว่ากรมวิชาการเกษตรได้ส่งข้อมูลมาครบแล้วแต่ปัญหาคือ ในส่วนของข้อมูลการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งพบว่า จากลุ่มตัวอย่าง 48,789 รายมีจำนวนถึง 75% ไม่เห็นด้วยให้แบนสาร ขณะที่25% เห็นด้วย
ดังนั้นเรื่องนี้ต้องให้กรมวิชาการเกษตรผู้จัดทำประชาพิจารณ์จะต้องมีแผนที่ชัดเจนว่าหากมีการแบนแล้วกรมต้องให้ข้อมูลคณะกรรมการว่ามีมาตรการรองรับอย่างไร เพราะคือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ เพราะข้อมูลล่าสุดพบว่า เมื่อ 23 พ.ค. 2561 กรมวิชาการเกษตร แจ้งกับคณะกรรมการฯว่ายังไม่สามารถหาสารมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่มีแผนจะแบนได้และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเอกสารใดเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร3 ชนิด ว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานในที่ประชุมว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับใช้การยกระดับ 3 สารเคมีเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ออกไป อีก 6 เดือน เนื่องจากจะต้องมีระยะเวลาสำหรับการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ขณะนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยกว่า 20,000 ตัน
ในส่วนนี้ ต้องรอให้กรมวิชาการเกษตรหารือในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะใช้วีธีเลื่อนการแบน หรือจะใช้กำหนดการแบนเดิมที่วันที่ 1ธ.ค.2562 แต่ให้มีไว้ครอบครองได้หลังประกาศในราชกิจการนุเบกษาอีก 6 เดือน โดยเชื่อว่าปริมาณ 3 สารที่มีอยู่ในไทยจะหมดไปได้
อย่างไรก็ตาม งานหลักของคณะกรรมการชุดนี้คือการรองรับผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าถ้ามีการแบนวันที่ 1 ธ.ค. นี้นั้นจะมีผลกระทบอะไรบ้าง และจะเยียวยาและชดเชย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ประมาณเท่าไหร่ โดยให้แต่ละกลุ่มเสนอโครงการเข้ามาแต่ในที่ประชุมถกเถียงกันและให้กลับไปทำใหม่ โดยข้อเสนอเบื้องต้นกำหนดให้รัฐต้องใช้เงินชดเชยให้เกษตรกร 32,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมร่วม 600,000 ครัวเรือน
นายอนันต์ กล่าวอีกว่าขณะนี้ 5 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา ทำหนังสือมาให้ไทยแจ้งรายละเอียดของการแบน 3 สาร พร้อมทั้งให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันการตกค้างของสารเคมี ในผลผลิตด้านการเกษตร จนนำมาซึ่งการแบน 3 สาร ซึ่ง 5 ประเทศที่ส่งหนังสือมาถึงไทย เพื่อขอให้ไทยชี้แจงรายละเอียด ของการแบน เพราะตามระเบียบสากลของโลก หรือตามระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)หากจะมีการแบนสารเคมีใด ประเทศที่ดำเนินการแบนต้องส่งหนังสือแจ้งกับประเทศสมาชิก ก่อน 60 วัน ซึ่งเงื่อนเวลาที่จะแบน 1 ธ.ค.ไม่ถึง 60 วัน หลายประเทศบอกว่าไทยทำผิดกติกาสากล นอกจากนี้ทั้ง 5 ประเทศ ก็กังวลว่าจะไม่สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตร อาทิ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เป็นต้น มายังประเทศไทยได้
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/855687
Search