บทสรุปและข้อเสนองานวิจัย "การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน" (รายงานวิจัยเพื่อเสนอตำแหน่งรองศาสตราจารย์สิทธิกร ศักดิ์แสง ปี 2553)
คณะผู้วิจัย
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธิกร ศักดิ์แสงหัวหน้าคณะวิจัย
2. นายสราวุธ เบญจกุล
3. นายเจษฎา อนุจารี
4. นายสุชาติ ขวัญเกื้อ
บทสรุป
หลักการ แนวคิดและวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ได้ถูกพัฒนาตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) เป็นต้นมาและเป็นที่กล่าวถึงและยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมีหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย อัยการ ศาล ฯลฯ ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปบางส่วนแล้วหรือกำลังเสนอร่างกฎหมายเพื่อรับรองการดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว แต่ในส่วนของ “ตำรวจ”ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกและต้นธารที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมและเป็นองค์กรที่สัมผัสประชาชนโดยตรงในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันปราบปราม รวมทั้งการสืบสวนสอบสวนและทราบข้อมูลสภาพปัญหาในชุมชนนั้นๆดีที่สุด แต่ไม่ปรากฏวิธีการและขั้นตอนตามกฎหมายที่ชัดเจนจะนำมาใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาที่เป็นการกระทำความผิดอันยอมความมิได้มาใช้กับผู้กระทำความผิดอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนในการนำมาปฏิบัติได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 81 ได้บัญญัติแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการอำนวยความยุติธรรม ไว้ว่า “ ( 1 ) ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม และทั่วถึง ส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ประชาชนและองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม และการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น อีกทั้งมุ่งให้มีการจัดระบบงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงนำหลักการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ระงับข้อพิพาททางอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อให้ระงับข้อพิพาททางอาญาระหว่างคู่กรณี เพื่อให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยกฎหมาย ความยุติธรรม โปร่งใส สามารถถูกตรวจสอบได้ และที่ประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันแก้ไขอาชญากรรมในระดับท้องถิ่นหรือชุมชน ซึ่งจะเป็นร่วมกันเชิงสมานฉันท์ อันเป็นการลดความคลุมเครือและสงสัยของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและช่วยให้กระบวนการยุติธรรมของไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ดังกล่าวจะมีหลักการอยู่ที่ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสประนีประนอมยอมความกัน เมื่อผู้กระทำความผิดสำนึกผิดและยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะเดียวกันผู้เสียหายได้รับการเยียวยาและได้รับค่าชดใช้ค่าเสียหายโดยรวดเร็วทันที ซึ่งเป็นและไปตามหลักนิติสมบัติ (Rechtgut) หรือหลักคุณธรรมทางกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลดีแก่คู่กรณี ชุมชน และสังคมมากกว่า เพราะสามารถลดระยะเวลาและความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการยุติธรรม ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ลดการทุจริตของเจ้าพนักงาน และลดงบประมาณภาครัฐ อีกทั้งส่งผลให้ประชาชนทุกระดับเข้ามีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันปัญหาความขัดแย้งในชุมชนเพื่อเสริมสร้างให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ตามทฤษฎี “อาชญาวิทยาแนวสันติวิธี” (Peacemaking criminology) ซึ่งเป็นกระบวนการค้ำชูผู้มีส่วนร่วมได้เสียในการกระทำความผิด ได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อร่วมกัน ระบุชี้และจัดการความเสียหาย ความต้องการของแต่ละฝ่ายเพื่อให้สามารถฟื้นฟูเยียวยา (Restoration) ทำให้ความเสียหายกลับคืนได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ อันเป็นวิธีการที่เหมาะสมยิ่งกว่าหลักการลงโทษผู้กระทำความผิด โดยการแก้แค้นทดแทน (Retribution) ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ของการยุติธรรมแบบดั่งเดิม จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนเกิดขึ้นหรือไม่ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมแบบคู่ขนาน
จากผลการศึกษาวิจัยที่รับข้อมูลจากการศึกษาเอกสาร การประชุม สัมมนา และการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน มีข้อสรุปได้ดังนี้
1. ควรที่จะมีกฎหมายใหม่มารองรับเป็นข้อยกเว้นหรือเป็นการเบี่ยงเบนคดีในคดีอาญาบางประเภทที่ไม่สมควรที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลัก (Main Stream Criminal Justice) หรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ น่าจะเหมาะสมกว่า ด้วยเหตุผลดังนี้
1) ทำให้ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสประนีประนอมยอมความคดีที่พิพาทและไม่คิดที่จะไปแก้แค้นซึ่งกันและกัน หรือ กระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมาย
2) ผู้เสียหายได้รับความพึงพอใจ ได้รับการเยียวยาและได้รับค่าเสียหายด้วยความรวดเร็วทันที
3) เมื่อผู้กระทำความผิดสำนึกผิดและยินยอมปรับพฤติกรรมจะทำให้ลดความขัดแย้งในชุมชนและสังคม
4) สังคมจะเกิดการบูรณาการมีความสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน
5) ลดระยะเวลา ลดปริมาณคดีขึ้นสู่อัยการและศาล ลดความยุ่งยากสลับซับซ้อนในการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ลดการทุจริตของเจ้าพนักงานและลดงบประมาณภาครัฐ
6) เป็นการรองรับการใช้กระบวนดารยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
2. ความผิดอาญาประเภทที่ควรนำมาใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่กระทบกับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ดังนี้
1) คดีอาญาอันยอมความได้
2) คดีลหุโทษ
3) การกระทำความผิดโดยประมาท ซึ่งรวมไปถึงการกระทำโดยประมาทในคดีจราจรด้วย
4) คดีอาญาอันยอมความมิได้ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
3. เมื่อมีการดำเนินการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว ไม่ควรจะดำเนินการกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ควรให้เป็นเหตุอายุความในการดำเนินคดีอาญาสะดุดหยุดอยู่ เพื่อรอกระบวนการไกล่เกลี่ยว่าจะมีผลอย่างไร คือ ถ้าการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ก็ให้มีการดำเนินคดีต่อไป ให้เริ่มนับอายุความในการดำเนินคดีต่อจากเวลานั้น แต่ถ้าไกล่เกลี่ยสำเร็จและคู่กรณีได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการไกล่เกลี่ย ให้ถือว่าสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
ส่วนคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย มีคำสั่งใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (การไกล่เกลี่ย) คดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องและการผัดฟ้องตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและการพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับด้วย และเมื่อผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวในชั้นพนักงานสอบสวนมิให้นำบทบัญญัติในเรื่องระยะเวลาในมาตรา 113/1แห่งประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ
4. รูปแบบและองค์กรที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน แยกพิจารณาสรุปออก 2 ประเด็น คือ
1) รูปแบบที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน คือ รูปแบบการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-เหยื่อผู้กระทำความผิด (Victim-offenders Mediation (VOM)) เป็นวิธีการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-เหยื่อผู้กระทำความผิด ประกอบด้วย “การเผชิญหน้า” ระหว่างเหยื่ออาชญากรรมกับผู้กระทำความผิดซึ่งพนักงานคุมประพฤติหรือนักสังคมสงเคราะห์หรืออาสาสมัครอาจทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและมีข้อสังเกตสำคัญที่ว่า ทั้งเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำความผิดต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันในโลกของความเป็นจริงและบนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลของสองฝ่าย โดยพยายามขจัดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การไกล่เกลี่ยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้มีการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมโดยการจัดเวทีที่ปลอดภัยและควบคุมได้ ให้พวกเขาได้พบปะพูดคุยกับผู้กระทำความผิดบนพื้นฐานของความสมัครใจ เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้เรียนรู้ผลกระทบของอาชญากรรมที่มีต่อเหยื่ออาชญากรม และเข้ามาแสดงความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขาที่กระทำไป และให้โอกาสเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำความผิดได้ร่วมกันพัฒนาและยอมรับแผนการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมนั้น รูปแบบรูปแบบการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-เหยื่อผู้กระทำความผิด (VOM) นิยมใช้กันมากในประเทศแคนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมัน ประเทศฝรั่งเศส ประเทศออสเตรีย ประเทศนอร์เวย์ และประเทศฟินแลนด์ เป็นต้น
2) องค์กรที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (การไกล่เกลี่ย) คดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน แยกพิจารณาสรุปได้ 2 องค์กร คือ
(1) คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ที่ประกอบด้วย
ก) หัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นประธานกรรมการ
ข) ฝ่ายปกครอง ผู้วิจัยเห็นว่าควรมีฝ่ายปกครองควรเข้าร่วมในคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยด้วย เนื่องจากฝ่ายปกครองมีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายปกครองควรจะเป็นตำแหน่งระดับใด ผู้วิจัยเห็นว่าควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ เพราะถ้าเป็นนายอำเภอคงมีภาระหน้าที่งานมากคงไม่มีเวลาเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมอำนวยการไกล่เกลี่ยได้ เห็นควรที่จะปลัดอำเภอที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ
ค) ผู้แทนประชาชนที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจสถานีตำรวจ (กต.ตร.) ผู้วิจัยเห็นว่าควรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนโดยตรง ซึ่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวที่เปิดรับการมีส่วนร่วมของประชาชนย่อมเป็นกระบวนการที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนผู้แทนประชาชนที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจสถานีตำรวจ (กต.ตร.) แล้วในอนาคตเกิดมีการยกเลิกคณะกรรมการดังกล่าว จะเกิดปัญหาหรือไม่ ผู้วิจัยเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาสามารถแก้ไขกฎหมายได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ และคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยที่เหลืออยู่ก็ยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้
ง) ผู้ที่ได้รับมอบหมายซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจนั้นๆเป็นเลขานุการ เนื่องจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนทราบรายละเอียดของเรื่องที่จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างดี และตำแหน่งดังกล่าวนี้ไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน จึงไม่ใช่ตำแหน่งที่ที่จะให้คุณให้โทษกับฝ่ายใด
(2) ผู้ไกล่เกลี่ย มีความเป็นกลาง ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความซื่อสัตย์ ผ่านการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ย ด คือ มีคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยและคุณสมบัติต้องห้าม ดังต่อไปนี้ก) คุณสมบัติของบุคคลที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ผู้วิจัยเห็นว่าคุณสมบัติของบุคคลที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและเห็นว่าผู้ไกล่เกลี่ยควรมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้(ก) มีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง(ข) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ค) มีความซื่อสัตย์(ง) มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ในประเด็นอายุของผู้ไกล่เกลี่ยนี้ผู้วิจัย เห็นว่า อายุ 35 ปี เป็นระดับอายุที่น่าจะมีประสบการณ์พอสมควรแล้ว และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือจากคู่กรณี
(จ) ผ่านการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ย เช่น หลักสูตรจิตวิทยาการไกล่เกลี่ย เทคนิคการไกล่เกลี่ย จริยธรรมของผู้ไกล่เกลี่ย เป็นต้นข) ลักษณะคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ไกล่เกลี่ย ผู้วิจัยเห็นว่าบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้(ก) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ(ข) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกราชการไว้ก่อนตามระเบียบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น(ค) เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(ง) เป็นบุคคลล้มละลาย(จ) เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(ฉ) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ไล่ออก หรือปลดออก จากราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพราะกระทำความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(ช) เป็นผู้เคยต้องโทษฐานประพฤติผิดมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ
5. การที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ไม่ควรให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้เข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (ไกล่เกลี่ย) คดีอาญา เห็นควรให้พนักงานสอบสวนทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรองข้อพิพาทในเบื้องต้น ว่าข้อพิพาทดังกล่าวเข้าเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ของการไกล่เกลี่ยหรือไม่ แล้วนำเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยพิจารณาดำเนินการต่อไป แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการให้พนักงานสอบสวน เข้าร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ยด้วยก็ควรเป็นพนักงานสอบสวนที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน
6. ขั้นตอนและการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน มีขั้นตอน ดังนี้
1) ขั้นตอนพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการ ว่าเข้าเงื่อนไขของการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไข ก็ดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ ถ้าเข้าเงื่อนไข ก็ให้ดำเนินการ ดังนี้ แจ้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนให้กับคู่กรณี ถ้าคู่กรณีไม่ยินยอมก็ให้ดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ แต่คู่กรณียินยอมก็ให้ดำเนินการรวบพยานหลักฐานเบื้องต้นให้กับคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ภายใน 7 วัน
2) ขั้นตอนคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยพิจารณา คือ เห็นควรให้ไกล่เกลี่ยหรือไม่ กรณีไม่เห็นควรก็ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ แต่ถ้าเห็นชอบให้มีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย แต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยภายใน 3 วัน ซึ่งในกระบวนนี้ถือว่ากระบวนการดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญาสะดุดหยุดอยู่
3) ผู้ไกล่เกลี่ย ให้ผู้ไกล่เกลี่ยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่ถ้าไม่แล้วเสร็จให้ขยายเวลา ไปไม่เกิน 30 วัน ถ้าไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จก็ให้รายงานไปยังคณะกรรมอำนวยการไกล่เกลี่ยเพื่อส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติต่อไป แต่ถ้าสำเร็จให้รายงานไปยังคณะกรรมอำนวยการไกล่เกลี่ยเพื่อส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนชะลอการดำเนินคดีอาญา และกำหนดเงื่อนไขควบคุมความประพฤติผู้กระทำความผิด ตามที่ตกลงไว้ในข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ โดยคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยเองหรือขอความร่วมมือให้ปกครองเป็นผู้ควบคุมความประพฤติ
4) ขั้นตอนการตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อตกลงของผู้กระทำความผิดให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยประสานขอความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ส่วนในเขตพื้นที่ไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน คือ ในเขตเทศบาลเมือง เทศบาลนคร ก็ให้ประธานชุมชนตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551ซึ่งเป็นฝ่ายปกครองที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และที่สำคัญ คือ อยู่ใกล้ชิดกับผู้กระทำความผิดมากที่สุด น่าจะมีบทบาทในการควบคุมประพฤติผู้กระทำความผิดได้ดี
5) เมื่อผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขความประพฤติ ให้ฝ่ายปกครองรายงานต่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย เพื่อพนักงานสอบสวนทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องเสนอต่อพนักงานอัยการเห็นชอบ
6) พนักงานอัยการเห็นชอบการสั่งไม่ฟ้องก็ให้ถือว่าสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องนั้นระงับไป โดยเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดให้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
7. การติดตามและการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนหลักการและแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (การไกล่เกลี่ย) คดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน คือ ต้องการเยียวยาผู้เสียหาย ให้ผู้กระทำความผิดได้สำนึกต่อการการกระทำผิด ยอมชดใช้เยียวยาให้แก่ผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยอมรับและให้อภัยผู้กระทำความผิด แต่การที่ผู้กระทำความผิดได้สำนึกการกระทำความผิดนั้นต้องพิจารณาว่าการสำนึกของการกระทำความผิดนั้นอยู่ในระดับใด ถ้าถือว่าการกระทำความผิดได้ตกลงชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย เสร็จสิ้น ถือว่าได้สำนึกแก่การกระทำความผิด คดีอาญาก็จะระงับ ผู้วิจัยเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้องตามหลักการและแนวคิดดังกล่าวข้างต้น จึงต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความผิดต้องปฏิบัติ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงครบถ้วนแล้ว
เงื่อนไขในข้อตกลงนั้นคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อดังนี้
(1) ให้ไปรายงานตัวกับบุคคลที่คณะกรรมการอำนวยการมอบหมายโยประสานงานกับฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน ผู้ควบคุมความประพฤติ ตามเวลาที่กำหนดเพื่อจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร
(2) จัดให้ผู้กระทำความผิด กระทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณะประโยชน์ตามที่คณะกรรมการไกล่เกลี่ยและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร
(3) ให้ฝึกหัดหรือทำอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(4) ให้ละเว้นจากการคบหาสมาคม หรือประพฤติใดๆ อันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีก
(5) ให้ไปรับบำบัดรักษาความบกพร่องของร่างกาย หรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น หรือให้ไปเข้ารับการอบรมในหลักฐานที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพฤติกรรมหรือพัฒนาพฤตินิสัย ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่กำหนด
(6) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อแก้ไขหรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดได้กระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก
ในการกำหนดเงื่อนไขการไกล่เกลี่ย หากมีความจำเป็นคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย สามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หรือบุคคลที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็น ร่วมหารือพิจารณาทำบันทึกข้อตกลงและกำหนดเงื่อนไขได้ตามความเหมาะสมแห่งคดี โดยคำนึงถึงความสงบสุข การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และพอสมควรแก่เหตุ
ซึ่งการไกล่เกลี่ยคดีอาญาจะไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไปจนกว่าได้รับแจ้งว่าการไกล่เกลี่ยคดีอาญาเป็นผลสำเร็จและคู่กรณีได้ปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วนสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องจึงจะระงับ
8. เมื่อมีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนไม่สำเร็จ ไม่จะเป็นสาเหตุใดก็ตามก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวรการยุติธรรมทางอาญาปกติต่อไป
จากข้อสรุปจากงานวิจัยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อให้ระงับข้อพิพาททางอาญาระหว่างคู่กรณี ในลักษณะของความชอบด้วยกฎหมาย มีความยุติธรรม ความโปร่งใส สามารถถูกตรวจสอบได้ และที่สำคัญประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันแก้ไขอาชญากรรมในระดับท้องถิ่นหรือชุมชน ซึ่งจะเป็นร่วมกันเชิงสมานฉันท์ อันเป็นการลดความคลุมเครือและสงสัยของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและช่วยให้กระบวนการยุติธรรมของไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปในลักษณะแบบ Win-Win ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการะบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทในชั้นพนักงานสอบสวน ดังนี้
Win ที่ 1 เป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมในการได้รับแก้ไขเยียวยา รวมทั้งการปรับสามัญสำนึกการให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิด
Win ที่ 2 เป็นประโยชน์กับผู้กระทำความผิดที่สำนึกในการกระทำความผิด การชดใช้ค่าเสียให้กับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายให้อภัยกับผู้กระทำความผิด
Win ที่ 3 ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ลดการทุจริตของเจ้าพนักงาน และลดงบประมาณภาครัฐ
Win ที่ 4 เป็นการส่งผลให้ประชาชนทุกระดับเข้ามีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันปัญหาความขัดแย้งในชุมชนเพื่อเสริมสร้างให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
Win ที่ 5 เป็นการรองรับการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
5.2 ข้อเสนอแนะ
จากการที่สรุปผลการวิจัยเห็นว่าควรมีร่างกฎหมายรองรับอำนาจการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาท (การไกล่เกลี่ย) คดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ผู้วิจัยจึงได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปดังนี้
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
พ.ศ. ......
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนเพื่อรองรับการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เหตุผล
โดยที่สมควรให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวกับความผิดอันยอมความได้ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี ด้วยการกำหนดแนวทางการสมานฉันท์เพื่อการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทคดีอาญามาใช้ จะทำให้ผู้เสียหายและผู้ต้องหาได้มีโอกาสประนีประนอมยอมความกัน เมื่อผู้ต้องหาสำนึกผิดและยินยอมปรับพฤติกรรม ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาและได้รับการชดใช้ค่าเสียหายโดยรวดเร็วทันที ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคู่กรณี และเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า เพราะสามารถลดระยะเวลาและความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมของคู่กรณี ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ลดการทุจริตของเจ้าพนักงาน และงบประมาณภาครัฐ และส่งผลให้ประชาชนทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันอาชญากรรมเพื่อเสริมสร้างให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่าง
พระราชบัญญัติ
ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
พ.ศ. …
………………………………………………………………………………………………………………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 39 และมาตรา 81
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานพนักงานสอบสวน พ.ศ. ….”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“การไกล่เกลี่ย” หมายความว่า การไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
“คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย” หมายถึง คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยสถานีตำรวจ
“ก.ต.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗
“ผู้ไกล่เกลี่ย” หมายความว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนที่ ก.ต.ช. ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
“คู่กรณี” หมายความว่า ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีผู้เสียหาย
มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงตามเสนอของ ก.ต.ช. เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว
มาตรา ๖ เมื่อได้มีคำสั่งให้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญาแล้ว ให้ถือเป็นเหตุอายุความในการดำเนินคดีอาญาสะดุดหยุดอยู่ และเมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย มีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป ให้เริ่มนับอายุความในการดำเนินคดีต่อจากเวลานั้น
มาตรา ๗ ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยและผู้ไกล่เกลี่ยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๘ ในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลจังหวัด เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย มีคำสั่งให้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องและการผัดฟ้อง ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับ
ในกรณีวรรคหนึ่งถ้าผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวนมิให้นำบทบัญญัติในเรื่องระยะเวลา ในมาตรา ๑๑๓/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ
มาตรา ๙ ห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐาน คำรับสารภาพหรือข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี
หมวด ๑
ความผิดที่ให้มีการไกล่เกลี่ย
________________________
มาตรา ๑๐ คดีอาญาดังต่อไปนี้ ให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้มีการไกล่เกลี่ยได้
(๑) คดีความผิดอันยอมความได้
(๒) คดีความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ
(๓) คดีความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
(๔) คดีความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๕ ปี
มาตรา ๑๑ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับในกรณีดังนี้
(๑) คดีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้ร้องขอ และผู้ต้องหานั้นเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้กระทำผิดใด ๆ อีกในระหว่างที่ยังรับโทษอยู่หรือภายในเวลา ๕ ปีนับแต่วันพ้นโทษ เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๒) คดีที่ผู้ต้องหาที่ร้องขออยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือระหว่างพิจารณาของพนักงานอัยการหรือศาลคดีอื่น หรืออยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอาญาในชั้นสอบสวน หรือคดีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้ร้องขอระหว่างรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๓) คดีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้น และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว
(๔) คดีที่ ก.ต.ช. ประกาศกำหนดห้ามมิให้มีการไกล่เกลี่ย
หมวด ๒
ก.ต.ช. และคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย
______________________________
มาตรา ๑๒ ให้ ก.ต.ช. มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) ออกระเบียบ ประกาศหรือมีมติเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
(๒) ออกระเบียบว่าด้วยการประชุมและลงมติของคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย
(๓) กำหนดหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน แต่งตั้ง ขึ้นทะเบียน หรือเพิกถอนผู้ไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ก.ต.ช. กำหนด
(๔) ประกาศกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยและผู้ไกล่เกลี่ยโดยเบิกจ่ายจากกระทรวงการคลัง
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย จำนวนสามคนประกอบด้วยหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นประธานกรรมการ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ผู้แทนประชาชนในคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจระดับสถานีตำรวจเป็นกรรมการ ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่หัวหน้าสถานีตำรวจมอบหมายเป็นเลขานุการ
มาตรา ๑๔ คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(๑) พิจารณากลั่นกรองรายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเสนอ ก.ต.ช. พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและส่งไปอบรมหลักสูตรผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนตามที่ ก.ต.ช. กำหนดเพื่อแต่งตั้งและขึ้นทะเบียน
(๒) พิจารณาคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ย
(๓) พิจารณากำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยในแต่ละคดีที่เข้าหลักเกณฑ์ที่ทำการไกล่เกลี่ยได้ หรือเปลี่ยนตัวผู้ไกล่เกลี่ยตามคำร้องขอ
(๔) ตรวจสอบ ติดตามผล และรายงานผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ ในกรณีที่ไกล่เกลี่ยไม่ได้ให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป
(๕) พิจารณาและมีความเห็นเสนอให้ ก.ต.ช. เพิกถอนรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยออกจากทะเบียน
(๖) หน้าที่อื่นๆ ตามที่ ก.ต.ช. กำหนด
หมวด ๓
คุณสมบัติ การพ้นสภาพ อำนาจและหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ย
__________________________________
มาตรา ๑๕ ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) เป็นผู้มีสัญชาติไทย
(๒) อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง
(๓) เป็นผู้ที่มีความซื้อสัตย์ สุจริต ประกอบอาชีพไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม
(๔) เป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนได้รับการแต่งตั้งและขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
มาตรา ๑๖ บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
(๒) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(๓) เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(๔) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ไล่ออก หรือปลดออกจากราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพราะกระทำความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(๕) เป็นผู้เคยต้องโทษฐานประพฤติผิดมรรยาทองค์กรวิชาชีพตามที่กฎหมายรับรอง
(๖) เป็นผู้กระทำการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต หรือมีส่วนได้เสียในการไกล่เกลี่ยนั้น
(๗) เป็นบุคคลล้มละลาย
มาตรา ๑๗ ผู้ไกล่เกลี่ยพ้นสภาพจากการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยดังนี้
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๕ ไม่ว่าการขาดคุณสมบัตินั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
(๔) เป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
(๕) ถูกเพิกถอนรายชื่อเป็นผู้ไกล่เกลี่ยออกจากทะเบียน
มาตรา ๑๘ ผู้ไกล่เกลี่ยดังต่อไปนี้จะทำการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้
(๑) เป็นคู่กรณีเอง หรือมีส่วนได้เสียโดยตรงหรือโดยทางอ้อม
(๒) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี เว้นแต่คู่กรณียินยอม
(๓) เป็นญาติของคู่กรณี คือเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดหรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้นหรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น เว้นแต่คู่กรณียินยอม
(๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ ผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
(๕) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้าง ลูกจ้างของคู่กรณี เว้นแต่คู่กรณียินยอม
(๖) เป็นหรือเคยเป็นพนักงานสอบสวนที่ได้ทำสำนวนการสอบสวนในคดีไกล่เกลี่ยนั้นๆ
(๗) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๙ ผู้ไกล่เกลี่ยมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
(๑) ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน ตามที่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมอบหมาย
(๒) บันทึกข้อตกลงและกำหนดเงื่อนไขประกอบข้อตกลงในเรื่องการเยียวยาความเสียหายของคู่กรณี
(๓) รายงานผลการไกล่เกลี่ยไปยังประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย
หมวด ๔
กระบวนการและขั้นตอนในการไกล่เกลี่ย
___________________________________
มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิให้คู่กรณีทราบในโอกาสแรกว่าคู่กรณีมีสิทธิได้รับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน
เมื่อคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญา ให้พนักงานสอบสวน บันทึกคำร้องและสอบถามไปยังอีกฝ่ายหนึ่งว่ายินยอมหรือไม่โดยพลัน
ในกรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้คำยินยอมให้พนักงานสอบสวนเสนอคำร้องและบันทึกคำยินยอมดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยเพื่อมีความเห็นว่าควรใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย
มาตรา ๒๑ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดีไว้จนกว่าจะได้รับผลการแจ้งผลการไกล่เกลี่ยจากประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย
มาตรา ๒๒ ให้พนักงานสอบสวนพิจารณารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิตนิสัย อาชีพ ฐานะ สิ่งแวดล้อมของผู้ต้องหา พฤติการณ์แห่งคดี การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ความยินยอมของผู้เสียหาย ความจำเป็นตามหลักอาชญาวิทยา และทัณฑวิทยาตลอดจนเหตุผลอื่นๆ อันสมควรเห็นว่าเพียงพอแก่การพิจารณาการไกล่เกลี่ย
ให้พนักงานสอบสวนส่งข้อมูลตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ภายใน ๗ วัน นับแต่ได้ส่งคำร้องขอไกล่เกลี่ยไปยังคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยเพื่อพิจารณาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
มาตรา ๒๓ ให้เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีคำสั่งให้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญาและให้แต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยโดยเร็วและแจ้งให้คู่กรณีทราบต่อไปโดยเร็ว
การแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมและจัดให้มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ เพื่อดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน เป็นอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
มาตรา ๒๕ ให้ผู้ไกล่เกลี่ยกำหนดนัดไกล่เกลี่ยคดีอาญาภายในกำหนดระยะเวลา ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและแจ้งให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องทราบ
มาตรา ๒๖ การไกล่เกลี่ยคดีอาญาให้กระทำเป็นการเปิดเผย เว้นแต่คู่กรณีประสงค์ให้กระทำเป็นการลับ โดยคู่กรณีต้องเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญาด้วยตนเอง
มาตรา ๒๗ ก่อนเริ่มต้นการไกล่เกลี่ยคดีอาญา ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องอธิบายให้คู่กรณีทราบถึง ลักษณะของการไกล่เกลี่ย กระบวนการและผลทางกฎหมายในการไกล่เกลี่ยและสิทธิในการที่จะยุติหรือยกเลิกการไกล่เกลี่ยไม่ว่าในเวลาใดๆ
มาตรา ๒๘ การไกล่เกลี่ยคดีอาญาให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๖๐ วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีมติให้มีการไกล่เกลี่ย ในกรณีที่มีเหตุอันควรหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีโอกาสที่คู่กรณีจะสามารถตกลงกันได้ ผู้ไกล่เกลี่ยอาจร้องขอให้มีการขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน ๓๐ วัน
มาตรา ๒๙ คดีที่ผู้ไกล่เกลี่ยสามารถไกล่เกลี่ยคู่กรณีให้ตกลงกันได้ ให้ผู้ไกล่เกลี่ย บันทึกข้อตกลงและกำหนดเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยดังกล่าวให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหายและผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อไว้ และส่งบันทึกดังกล่าวไปยังประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย เมื่อผู้ต้องหาปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยเสร็จสิ้น ส่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิด รวมเข้าสำนวนพร้อมทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเสนอพนักงานอัยการเพื่อมีความเห็นชอบต่อไป
คดีที่ผู้ไกล่เกลี่ยไม่สามารถทำให้คู่กรณีตกลงยุติคดีได้ภายในเวลาที่กำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยบันทึกผลการไกล่เกลี่ยและแจ้งผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยทราบ ให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดี
กรณีผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยตามบันทึกข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ ให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีหนังสือแจ้งให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไข ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยส่งคดีให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินคดีต่อไป
กรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อพนักงานอัยการเห็นชอบสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ
มาตรา ๓๐ กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ หรือเหตุอื่นใด เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาไม่อาจปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขได้ อันมิได้เกิดจากความผิดผู้ต้องหา ให้ผู้ต้องหาแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยทราบ เพื่อพิจารณาผลการปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไข เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยเห็นว่าผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยไปมากพอสมควรแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเสนอพนักงานอัยการ เพื่อมีความเห็นชอบต่อไป
มาตรา ๓๑ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน กรณีที่พนักงานอัยการไม่เห็นชอบตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้พนักงานอัยการระบุเหตุที่ไม่เห็นชอบพร้อมคำแนะนำ เสนออัยการสูงสุดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือในกรณีต่างจังหวัดให้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณามีความเห็นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบ
ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวน ทำตามคำแนะนำของอัยการสูงสุดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๒ ให้ผู้ไกล่เกลี่ยยุติการไกล่เกลี่ย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
(๑) คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกเลิกความตกลงที่จะทำการไกล่เกลี่ย
(๒) มีเหตุอันควรสงสัยว่าความตกลงนั้นมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ
(๓) มีเหตุอันควรสงสัยว่าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเข้าใจความหมายของการ ไกล่เกลี่ย และผลที่จะได้รับจากการไกล่เกลี่ย
(๔) การดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไปเห็นได้ชัดว่าจะเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นผู้เยาว์ คนวิกลจริต คนไร้ความสามรถ
(๕) คู่กรณีไม่สามารถเจรจาเพื่อตกลงแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
(๖) เมื่อพ้นระยะเวลาตามมาตรา ๒๘
ให้ผู้ไกล่เกลี่ยรายงานให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย ทราบถึงการยุติการไกล่เกลี่ยตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว
มาตรา ๓๓ เมื่อได้รับรายงานการยุติการไกล่เกลี่ยให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาต่อไป
หมวด ๕
ผลของการไกล่เกลี่ย
___________________________
มาตรา ๓๔ เมื่อคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีคำสั่งให้ทำการไกล่เกลี่ยคดีอาญา ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้ จนกว่าประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยจะมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ถ้าผู้เสียหายนั้นฟ้องคดีอยู่ก่อนแล้วให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย
มาตรา ๓๕ ถ้าความปรากฏแก่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยว่าผู้ต้องหาจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องด้วยตนเอง
มาตรา ๓๖ ถ้าข้อตกลงการไกล่เกลี่ยคดีอาญา กำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความผิดต้องปฏิบัติ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงครบถ้วนแล้ว เว้นแต่ข้อตกลงในทางแพ่งเมื่อได้มีการตกลงกันเรียบร้อยถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
เงื่อนไขในข้อตกลงคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อดังนี้
(๑) ให้ไปรายงานตัวกับบุคคลที่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยมอบหมายให้ควบคุมความประพฤติ ตามเวลาที่กำหนดเพื่อจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร
(๒) จัดให้ผู้ต้องหา กระทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณะประโยชน์ตามที่คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยและผู้ต้องหาเห็นสมควร
(๓) ให้ฝึกหัดหรือทำอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(๔) ให้ละเว้นจากการคบหาสมาคม หรือประพฤติใดๆ อันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีก
(๕) ให้ไปรับบำบัดรักษาความบกพร่องของร่างกาย หรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น หรือให้ไปเข้ารับการอบรมในหลักฐานที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพฤติกรรมหรือพัฒนาพฤตินิสัย ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่กำหนด
(๖) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อแก้ไขหรือป้องกันมิให้ผู้ต้องหากระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก
ในการกำหนดเงื่อนไขการไกล่เกลี่ย หากมีความจำเป็นคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย สามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หรือบุคคลที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็น ร่วมหารือพิจารณาทำบันทึกข้อตกลงและกำหนดเงื่อนไขได้ตามความเหมาะสมแห่งคดี โดยคำนึงถึงความสงบสุข การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และพอสมควรแก่เหตุ
หมวด ๖
ค่าตอบแทนของคณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ยและผู้ไกล่เกลี่ย
_______________________________
มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมการอำนวยการไกล่เกลี่ย และผู้ไกล่เกลี่ยได้รับค่าตอบแทนตาม ก.ต.ช. กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายจากกระทรวงการคลัง
มาตรา ๓๘ หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตาม ก.ต.ช. กำหนด
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
...........................................
นายกรัฐมนตรี
Search
ไกล่เกลี่ย หมายถึง 在 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ ... 的推薦與評價
การ ไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี. COJ CHANNEL. COJ CHANNEL. 42.1K subscribers. Subscribe. ... <看更多>